"CMU-Doneพอดี" เปิดตัวครั้งแรกในระดับนานาชาติด้วยการคว้ารางวัลจากงาน “WorldInvent Singapore 22+23” (WoSG) ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ .

13 กันยายน 2566

สถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์

"CMU-Doneพอดี" เปิดตัวครั้งแรกในระดับนานาชาติด้วยการคว้ารางวัลจากงาน “WorldInvent Singapore 22+23” (WoSG) ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์
.
       วันที่ 4-6 กันยายน 2566 ศ.ดร. นิพนธ์ ธีรอำพน ผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้าร่วมงาน “WorldInvent Singapore 22+23” (WoSG) ณ D’ Marquee, Downtown East สาธารณรัฐสิงคโปร์ และได้รับรางวัลเหรียญเงิน และรางวัลพิเศษ Special Prize จากราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย จากการนำเสนอนวัตกรรม "CMU-DonePorDee - Help Cleft Patients with Innovative Stents" โดยคณะผู้ประดิษฐ์คิดค้นประกอบด้วย ศ.ดร.นิพนธ์ ธีรอำพน และ ดร.สุรักษ์ อุดมสม สถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์ รศ.ทพญ. มารศรี ชัยวรวิทย์กุล คณะทันตแพทยศาสตร์ และ รศ.พญ.นันทิการ์ สันสุวรรณ คณะแพทยศาสตร์
.
        นวัตกรรม CMU-Doneพอดี หรือ CMU-ดันพอดี เป็นอุปกรณ์ดันปลายจมูกที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กปากแหว่งเพดานโหว่เฉพาะบุคคล นวัตกรรมนี้ช่วยค้ำโครงสร้างของจมูกผู้ป่วยเด็กให้คงรูปทรงตามธรรมชาติระหว่างการฟื้นฟูแผลผ่าตัดรักษาอาการปากแหว่งเพดานโหว่ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์ ศูนย์ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ คณะทันตแพทยศาสตร์ และ คณะแพทยศาสตร์
.
         CMU-Doneพอดี เป็นนวัตกรรมที่อาศัยเทคโนโลยีหลายแขนงมาประยุกต์ใช้ด้วยกัน อาทิ การสแกนสามมิติ และการพิมพ์สามมิติ ซึ่งสถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์ต้องออกแบบและสร้างระบบเหล่านี้ขึ้นใช้เองเพื่อให้เหมาะสมกับนวัตกรรมนี้มากที่สุด นอกจากนี้ CMU-Doneพอดี ยังต้องอาศัยความรู้ความสามารถเชิงลึกของผู้เชี่ยวชาญในหลายแขนง เพื่อให้ได้อุปกรณ์ที่เหมาะสมที่สุดกับรูปทรงจมูกของผู้ป่วยเด็กแต่ละคน
.
          ในช่วงระยะเวลามากกว่า 4 ปีที่ผ่านมา นวัตกรรม CMU-Doneพอดี ถูกสร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายและช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กไปแล้วมากกว่า 2,000 ชิ้น โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่เน้นที่ประโยชน์ของผู้ป่วยเด็กและผู้ปกครอง โดยได้มีการพัฒนากระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง จนในปัจจุบัน ครอบครัวของผู้ป่วยสามารถรับ CMU-Doneพอดี ได้ภายในวันที่เข้ารับการรักษา ไม่ต้องเดินทางหลายรอบ และยังมีการติดตามผลทางโทรศัพท์หรือทางออนไลน์ระหว่างการใช้นวัตกรรมนี้
.
         โครงการดังกล่าวยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องภายใต้ความร่วมมือของสถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ เพื่อให้ผู้ป่วยเด็กสามารถฟื้นฟูแผลจากการผ่าตัดให้กลับมามีรูปทรงจมูกตามธรรมชาติได้อีกครั้ง
.
แกลลอรี่