มช. พัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจจุดจอดรถยนต์แบบเรียลไทม์ แก้ปัญหาจุดจอดรถ

23 ธันวาคม 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. พัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจจุดจอดรถยนต์ สำหรับ Smart City ตรวจสอบจุดจอดรถว่างผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ช่วยจัดระเบียบจุดจอดรถบนถนนนิมมานเหมินท์ บรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด ช่วยให้ประชาชนวางแผนการเดินทางได้ง่ายยิ่งขึ้น 


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อนุชา พรมวังขวา หัวหน้าห้องวิจัย Smart Energy & Environmental Lab คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงผลงานวิจัยและพัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจจุดจอดรถยนต์ว่า เป็นการนำเทคโนโลยี Internet of Things หรือ IoT ชนิดฝังใต้พื้นลานจอดรถ มาประยุกต์ใช้ในการตรวจว่า “ช่องจอดรถยนต์ว่างหรือไม่?” ซึ่งผู้ใช้รถยนต์ที่กำลังวนหาที่จอดสามารถตรวจสอบจำนวนพื้นที่ว่างของจุดจอดรถจากแอปพลิเคชันบนมือถือได้ ซึ่งเป็นแฟตฟอร์มที่พัฒนาโดยคนไทย สามารถลดการนำเข้าจากต่างประเทศและเป็นตัวอย่างที่ดีที่ตอบโจทย์นโยบาย 4.0 ของประเทศ ปัจจุบันมีการทดสอบระบบ 3 พื้นที่ด้วยกัน ได้แก่ ที่จอดรถยนต์ข้างสนามกีฬากลางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ย่านการค้าเทศบาลนครภูเก็ต จ.ภูเก็ต และถนนนิมมานเหมินท์ จ.เชียงใหม่


โครงการบริหารจัดการพื้นที่จอดรถยนต์สำหรับเมืองอัจฉริยะ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบ IoT สำหรับพื้นที่จอดรถทั้งจุดจอดในอาคารและจุดจอดรถกลางแจ้ง ทั้งนี้เพื่อนำร่องการเป็นSmart City ลดการใช้พลังงานในการวนหาที่จอดรถ ส่งผลให้ลดมลพิษในเขตเมืองและเพิ่มความคล่องตัวของการจราจรได้อีกด้วยสำหรับหลักการทำงานของเซ็นเซอร์ตรวจจุดจอดรถยนต์นั้น จะใช้เซ็นเซอร์ตรวจการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กโลก (Geo magnetics) ซึ่งสามารถตรวจจับรถที่มาจอดทับหรือมาจอดใกล้ๆ บริเวณที่มีเซ็นเซอร์ติดตั้งอยู่ และจะส่งสัญญาณไปยังระบบคลาวด์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือถึงจำนวนจุดจอดรถว่าง โครงการบริหารจัดการพื้นที่จอดรถยนต์สำหรับเมืองอัจฉริยะ มีเป้าหมายที่จะดำเนินการติดตั้งระบบทั้งจุดจอดรถในอาคารและจุดจอดรถกลางแจ้ง จำนวนกว่า 500 ชุด นอกจากนี้จะมีการประยุกต์ใช้เป็นเซ็นเซอร์สำหรับห้ามจอดตามแนวห้ามจอดขาว-แดง ระยะ 10 ม. จากขอบทางแยก โดยจะมีการทดลองใช้บริเวณทางแยกบนถนนนิมมานเหมินท์และซอยศิริมังคลาจารย์ ซึ่งคาดว่าจะทดสอบเต็มระบบภายในเดือนมกราคม 2563 นี้


มหาวิทยาลัยเชียงใหม่หวังว่าการร่วมขับเคลื่อนโครงการ Smart Nimman ตามนโยบายของจังหวัดเชียงใหม่ในการพัฒนาเมืองเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยการดำเนินการพัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจจุดจอดรถยนต์นี้ร่วมกับชุมชนชาวนิมมานเหมินท์จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะยั่งยืน และมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมได้ 

แกลลอรี่