Eco-friendly Packaging to Global Value Chain บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนสู่การเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าโลก

23 สิงหาคม 2564

ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์

Eco-friendly Packaging to Global Value Chain
บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนสู่การเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าโลก

ปัญหาโลกร้อน (global warming) นับเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วโลก ซึ่งเกิดจากการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติและไม่มีการพัฒนาการควบคุม จำกัด หรือป้องกันอย่างเพียงพอ ปัจจุบัน ทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญมากยิ่งขึ้นทำให้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่ออุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีปัจจัยหลายประการเอื้อหนุนต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ ที่ใช้ในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองกระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืน


สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2564 ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงและตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) มีจำนวนทั้งสิ้น 17 เป้าหมาย 169 เป้าประสงค์ และ 232 ตัวชี้วัด (Indicators) โดย SDGs เป็นเป้าหมายที่สืบทอดจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Millennium Development Goals (MDGs) ประเทศสมาชิกขององค์กรสหประชาชาติจึงได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาขึ้นใหม่ เป็น SDGs และใช้ตั้งแต่ปี 2015-2030 ทั้งนี้มี 4 เป้าหมายจากทั้ง 17 เป้าหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่
  • เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน
  • เป้าหมายที่ 9 สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม
  • เป้าหมายที่ 12 สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
  • เป้าหมายที่ 13 เร่งต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น

จากการรวบรวมข้อมูล และข้อคิดเห็นต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (Food Innovation and Packaging Center, FIN) และสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า โอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการ SMEs และศักยภาพของไทยและอาเซียน คือ มีโอกาสเป็นฐานการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่มีศักยภาพสูงเนื่องจากมีวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตรจำนวนมากและมีความหลากหลาย มีงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ ในสายพลาสติกชีวภาพและวัสดุเยื่อพืชที่เป็นของเหลือใช้ทางการเกษตร อีกทั้งกระแสตลาดปัจจุบันยังมีความความต้องการวัสดุที่เป็นธรรมชาติและไม่ใช่พลาสติก

ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนสำหรับอนาคตเพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าโลก ดังนี้

ระดับต้นน้ำ (Upstream) : เริ่มจากแหล่งวัตถุดิบจนถึงการผลิตบรรจุภัณฑ์
1. จัดทำ e-database ประเภท จำนวนและแหล่งวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตร
2. การส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกพืชที่สามารถนำมาผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3. สนับสนุนงบประมาณวิจัยและสร้างเครือข่ายนักวิจัย R&D
4. สนับสนุนการกู้เงินสำหรับผู้ประกอบการ SMEs
5. จัดตั้งศูนย์ให้บริการทดสอบและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์
6. การสนับสนุนการจดสิทธิบัตร
7. ส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกรในการแปรรูปของเหลือใช้จากการเกษตรให้อยู่ในรูปวัตถุดิบที่พร้อมเข้าสู่กระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์
8. ส่งเสริมให้มีการต่อยอดนำวัสดุที่ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปผลิตสินค้าประเภทอื่น

ระดับกลางน้ำ (Midstream) : เริ่มตั้งแต่การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไปสู่บริษัทที่ใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคและจำหน่ายไปให้กับผู้บริโภคขั้นสุดท้าย (end-consumers)
1. การออกมาตรการงดการใช้พลาสติกและโฟมของหน่วยงานภายใต้สังกัดของแต่ละกระทรวง
2. การออกมาตรการทางด้านภาษีตามหลักการ Polluter pays
3. ให้ความรู้ในเรื่องบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องแก่ประชาชน
4. การจัดทำมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีสัญลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ที่ผ่านมาตรฐาน
5. การกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นในการควบคุมและตรวจสอบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ระดับปลายน้ำ (Downstream) : การจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว
1. การให้ความรู้แก่ประชาชนในการแยกขยะและสนับสนุนอุปกรณ์ในการจัดเก็บขยะแต่ละประเภทให้กับประชาชนได้ใช้อย่างทั่วถึง
2. ส่งเสริมการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากเยื่อพืชโดยการทำเป็นปุ๋ยและผลิตก๊าซชีวภาพ
3. จัดตั้งโรงจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ประเภทไบโอพลาสติกที่ต้องการสภาพแวดล้อมจำเพาะในการสลายตัว

สอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ www.fin.cmu.ac.th โทร. 053-948286 | fininfo.fin@gmail.com

#CMU #ChiangMaiUniversity #มช #มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน #CMUSDGs #CMUSDG3  #CMUSDG8 #CMUSDG9 #CMUSDG13

แกลลอรี่