ป้ายไม้และหมุดหมายของเวลา ณ เรือนเดิม อาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

7 กรกฎาคม 2565

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

18 พฤษภาคม 2504 เวลา 15.45 น.

     “เรือนเดิม” เรือนไม้ชั้นเดียวหลังเล็ก ๆ ถูกสร้างขึ้นอย่างเรียบง่ายบนพื้นที่ใกล้เชิงดอยสุเทพ เพื่อรองรับภารกิจสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังที่ปรากฏข้อความอยู่บนป้ายไม้ เหนือบันไดทางขึ้นเรือนเดิมที่ว่า “การเตรียมงานจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เริ่มต้น ณ สถานที่นี้ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 เวลา 15.45 น.”

     ข้อความแสดงเจตจำนง และเวลาที่บันทึกไว้บนป้ายนี้ จึงเป็นหมุดหมายที่สำคัญของการเริ่มต้นลงมือ ก่อร่างสร้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้นจากความเวิ้งว้างว่างเปล่าในเวลานั้น โดยมีอาคารเรือนเดิมเป็นอาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัยที่ใช้เตรียมงานจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อที่ดิน การวางผังการใช้พื้นที่ การเตรียมบุคลากรต่าง ๆ ที่จะเข้ามาทำงานในมหาวิทยาลัย เป็นต้น




     ในขณะนั้นคณะกรรมการดำเนินงานจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ได้เลือกพื้นที่ริมเชิงดอยสุเทพ ให้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยเหตุผลสำคัญข้อหนึ่ง นั่นคือ ความโดดเด่นและสวยงามของภูมิประเทศแถบนี้ที่มีลักษณะเป็นที่ราบ และเนินดินสูง ๆ ต่ำ ๆ สลับไป ขณะเดียวกัน บริเวณนี้ก็เป็นพื้นที่กว้างใหญ่มากพอที่จะจัดซื้อที่ดินได้ ตามคำแนะนำของ ดร.พอล ดับบลิว ซีเกอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังสถาบันการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอินเดียนา ที่ให้คำแนะนำว่าควรมีที่ดินในการจัดสร้างมหาวิทยาลัย ประมาณ 400 ไร่ จึงจะเพียงพอต่อการสร้างมหาวิทยาลัย

     ที่ดินจากการจัดซื้อและเวนคืน เมื่อแรกก่อตั้ง มช. มีอยู่ประมาณ 579 กับ 68 ตารางวา มีทั้งพื้นที่ที่เป็นสวนผลไม้ สวนต้นนุ่น ที่นา ป่า และลำห้วย งานสำคัญต่อมาของคณะทำงานก็คือ การวางผังและกำหนดโซนการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสม และระมัดระวัง โดยคำนึงถึงสภาพพื้นที่ ประโยชน์ใช้สอย และภูมิทัศน์ ที่สวยงามด้วย ดังบทประพันธ์ร้อยกรองที่ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้แสดงถึงเจตนารมณ์ ในการวางผังพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไว้ว่า “ธรรมชาติงามเด่นเป็นประเดิม จะสร้างเสริมยิ่งให้ วิไลตา”



คณะกรรมการดำเนินงานจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
สำรวจพื้นที่ในการสร้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

     งานสร้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงนับว่าเป็นงานยากที่ต้องอาศัยทั้งองค์ความรู้และจินตนาการ ในการสร้างสรรค์พื้นที่ที่รกร้าง ให้กลายเป็นสถาบันการศึกษาที่มีอาคารเรียนกลมกลืน สอดรับไปกับภูมิทัศน์สวยงาม โดย ดร.พอล ดับบลิว ซีเกอร์ส ได้เดินทางมาเป็นที่ปรึกษาในการวางผัง และแนะนำการเขียนแบบแปลนแก่สถาปนิกหลายต่อหลายครั้ง หลังจากนั้นสถาปนิกที่รับผิดชอบในการออกแบบอาคารแต่ละแห่งได้เป็นผู้เลือกที่ตั้งของอาคารต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย โดยมีการกำหนดให้ใช้ที่ดอนในการปลูกสร้างตึกเรียนเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ ทำให้อาคารของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในยุคแรก ตั้งอยู่บนเนิน และกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมที่สวยงามตามธรรมชาติ

     ทั้งนี้อาคารในยุคแรกก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถูกจัดให้สร้างอยู่ในโซนด้านหน้ามหาวิทยาลัย โดยตึกที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2506 ได้แก่ สำนักงานอธิการบดี อาคารเคมี 1 ตึกวิทยาลัยที่ 1 (คณะรัฐศาสตร์ ในปัจจุบัน) ศาลาธรรม ต่อมาใน พ.ศ. 2507 จึงได้มีการก่อสร้างตึกวิทยาลัยที่ 2 (หอพักอ่างแก้วในปัจจุบัน) คณะมนุษยศาสตร์ ศูนย์สัมพันธ์นักศึกษา เป็นต้น

อาคารที่อยู่ในความทรงจำของนักศึกษา มช.รุ่นแรก เมื่อ พ.ศ. 2507 และได้ชื่อว่าเป็นอาคารเรียนหลังแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ อาคารเคมี 1 สถาปนิกผู้ออกแบบคือ นายสมาน วสุวัต

ภาพถ่ายทางอากาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2513 ด้านบนของภาพคือ อาคารเคมี 1 ด้านล่างคือ
อาคารวิทยาลัยที่ 1 ซึ่งเป็นที่พักของนักศึกษา (ภาพโดยบุญเสริม สาตราภัย)


วิทยาลัยที่ 2 ใช้เป็นที่พักนักศึกษาหญิง ปัจจุบันคือหอพักอ่างแก้ว ออกแบบโดย อมร ศรีวงศ์


ตึกภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์

     จากจุดเริ่มต้นดำเนินงานเมื่อ พ.ศ. 2504 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เดินทางมาถึงช่วงเวลาสำคัญ นั่นคือ วันเปิดเรียนภาคแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 ในเวลานั้นพื้นที่ ริมเชิงดอยแห่งนี้ก็ได้กลายเป็นเมืองมหาวิทยาลัยที่มีพร้อมทั้งอ่างเก็บน้ำ ถนน อาคารเรียน หอพัก มีน้ำ ไฟ ประปา และสาธารณูปโภคต่าง ๆ พร้อมรองรับนักศึกษา บุคลากร และเปิดการเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบใน พ.ศ. 2507 ในนามของ “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” มหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทย

ภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในมุมสูงเหนืออ่างแก้ว
(ภาพจากเพจ Chiangmai Memories)

      นับแต่นั้นเป็นต้นมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วในทุกด้าน ทั้งการขยายตัวของคณะวิชาต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับสิ่งปลูกสร้างใหม่ ๆ มากมาย แต่ “เรือนเดิม” เรือนไม้ชั้นเดียว ก็ยังคง ดำรงอยู่อย่างสงบนิ่งและเรียบง่ายบนพื้นที่มุมหนึ่งของคณะมนุษยศาสตร์ จนกระทั่งใน พ.ศ. 2521 ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยในขณะนั้น ได้เสนอให้คณะมนุษยศาสตร์ซ่อมแซมอาคารเรือนเดิม เพื่อใช้เป็นที่ตั้งหน่วยส่งเสริมศิลปศึกษาและวัฒนธรรมล้านนา นอกจากนี้ อาคารเรือนเดิมยังเป็นสถานที่ในการจัดตั้งโครงการบัณฑิตศึกษา สาขาภาษาและวรรณกรรมล้านนา เมื่อ พ.ศ. 2529 โดยบูรพาจารย์ด้านภาษาและวรรณกรรมล้านนา ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี รองศาสตราจารย์ ดร.พิชิต อัคนิจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ลิขิต ลิขิตานนท์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์บำเพ็ญ ระวิน และ ศาสตราจารย์ ดร.ฮารัลด์ ฮุนดิอุส ได้ใช้อาคารเรือนเดิมเป็นที่ทำงานและจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรภาษาและวรรณกรรมล้านนา นับแต่นั้นเป็นต้นมา เรือนเดิมจึงได้เป็นจุดกำเนิดของ การสร้างนักวิชาการด้านล้านนาคดี และสร้างองค์ความรู้ที่มีคุณูปการต่อแวดวงการศึกษาวรรณกรรมล้านนา อาทิ พจนานุกรมล้านนาไทยฉบับแม่ฟ้าหลวง, สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ เป็นต้น

ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ในงานทำบุญอาคารเรือนเดิม

    ภารกิจด้านล้านนาคดีของเรือนเดิมดำเนินต่อเนื่องมายาวนานจนกระทั่งสิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2554 เมื่อบูรพาจารย์ด้านล้านนาคดีหลายท่านได้ถึงแก่กรรมลง จนกระทั่งใน พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นปีที่เรือนเดิม มีอายุครบ 60 ปี เรือนไม้แห่งนี้ก็ได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เมื่อ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยาภัสร์ จารุสวัสดิ์ แห่งภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ได้เปิดสอนวิชาสารสนเทศล้านนาขึ้นที่เรือนเดิม ด้วยความตระหนักถึงคุณค่าของเรือนไม้เก่าแก่นี้ และต่อมาได้จัดตั้งโครงการพัฒนาอาคารเรือนเดิม ร่วมกับ อาจารย์ ณัฐพงษ์ ปัญจบุรี อาจารย์พิเศษ ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อให้อาคารที่มีคุณค่า ทางประวัติศาสตร์แห่งนี้เป็นศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเพื่อเชิดชูเกียรติคุณและผลงานของบูรพาจารย์ด้านล้านนาคดีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สืบต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยาภัสร์ จารุสวัสดิ์ และอาจารย์ณัฐพงษ์ ปัญจบุรี


     การสานต่อคุณค่าขององค์ความรู้ด้านล้านนา และคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเรือนเดิมในครั้งนี้ นับว่าเป็นไปด้วยจังหวะ เวลา เจตนาที่เหมาะสม และสอดคล้องต้องกันกับที่ ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ปราชญ์แห่งล้านนาคดีผู้ล่วงลับ ได้เคยกล่าวไว้เมื่อปี 2549 ว่า

     “...งานที่ผมทำอยู่นี้ มิได้เกิดขึ้นจากผมเพียงคนเดียว หากแต่ได้รับความเมตตาและช่วยเหลือจาก คนมากมาย งานของผมจึงเป็นเสมือนสมบัติของบรรพชน และในฐานะลูกหลาน ผมก็ควรที่จะเทิดทูนสมบัติของบรรพชนนี้ไว้ เพื่อให้แก่ลูกหลานและคนอื่น ๆ ที่จะตามมา รับช่วงสืบต่อไป ไม่มีวันสิ้นสุด...”

บรรยากาศภายในเรือนเดิม


บูรพาจารย์ผู้มีคุณูปการต่อการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และงานด้านล้านนาคดี

โต๊ะทำงานเดิมของ ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ยังคงอยู่ภายในอาคารเรือนเดิม

     ในวันนี้ โต๊ะทำงานของ ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ยังคงตั้งอยู่บนอาคารเรือนเดิม ในบรรยากาศอันนิ่งสงบและคลาสสิคของอาคารเรือนไม้อายุกว่า 60 ปี เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงคุณค่าของการทำงานเพื่อสืบทอดสมบัติของบรรพชนไว้ให้แก่คนรุ่นหลัง เช่นเดียวกับป้ายไม้และหมุดหมายของเวลา ณ วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 เวลา 15.45 น. ที่จะเป็นข้อบ่งชี้ถึงความสำคัญของ “จุดเริ่มต้น” ณ เรือนเดิม ที่มีความหมายต่อปัจจุบันและอนาคตของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตลอดมาและตลอดไป

เอกสารอ้างอิง
- หนังสือที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินเปิดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 24 มกราคม 2508
- เอกสาร โครงการพัฒนา “อาคารเรือนเดิม” ให้เป็นศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และบูรพาจารย์ผู้มีคุณูปการต่องานล้านนาคดี โดย อาจารย์ ดร.ปิยาภัสร์ จารุสวัสดิ์ และอาจารย์ณัฐพงษ์ ปัญจบุรี