พิธีทำบุญและสืบชะตาเมืองเชียงใหม่ประจำปี 2564

27 พฤษภาคม 2564

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์


                 รองศาสตราจารย์ นพ.อำนาจ อยู่สุข รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมพิธีทำบุญและสืบชะตาเมืองเชียงใหม่ประจำปี 2564 ณ หน่วยพิธีประตูสวนดอก โดยมี นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน ณ จุดพิธีลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ซึ่งจัดพิธีขึ้นพร้อมกันอีก 9 จุด รอบเขตกำแพงเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ประตูเมือง 5 ประตู ได้แก่ ประตูท่าแพ ประตูเชียงใหม่ ประตูแสนปรุง ประตูสวนดอก ประตูช้างเผือก และแจ่งเมืองทั้ง 4 แจ่ง คือ แจ่งกู่เฮือง แจ่งหัวลิน แจ่งศรีภูมิ และแจ่งกะต๊ำ โดยมีพระสงฆ์ร่วมประกอบพิธีรวมทั้งหมด 108 รูป เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคล และอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวล้านนาที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต และในโอกาสครบรอบ 725 ปีแห่งการก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ ภายใต้มาตรการด้านความปลอดภัยและการปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Civid – 19 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

                 นับตั้งแต่มีการสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1839 เป็นต้นมา เจ้าผู้ครองนครและไพร่ฟ้าประชาชนจะร่วมกันทำพิธีสืบชะตาเมืองอันเป็นพระราชพิธีต่ออายุเมืองให้ยืนยงคงอยู่และสร้างความสุขสมบูรณ์แก่อาณาประชาราษฏร์ โดยก่อนหน้าที่จะทำพิธีสืบชะตาเมืองจะทำพิธี บูชาไหว้เสาอินทขีล หรือ ประเพณีใส่ขันดอกอินทขีล อันเป็นเสาหลักของเมืองเสียก่อน ซึ่งจะกระทำในราวปลายเดือน 8 เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ไปเสร็จสิ้นเดือน 9 เหนือ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ประเพณี 8 เข้า 9 ออก” หลังจากนั้นแล้วก็จะทำพิธีสืบชะตาเมือง ทุกปีหลังจากที่เมืองเชียงใหม่ได้ทำพิธีบูชาเสาอินทขีล หรือ ประเพณีใส่ขันดอกเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการทำพิธีสืบชะตาเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคลของชาวเมืองและยังถือว่าพิธีสืบชะตาเมืองเป็นประเพณีเก่าแก่ที่ชาวเชียงใหม่กระทำสืบทอดกันมาช้านาน
                 ความเชื่อแต่โบราณว่าการเกิดเมืองหรือการสร้างเมืองนั้นจะสร้างตามฤกษ์ยามและกำหนดสถานที่มหามงคลต่างๆ ไว้ ซึ่งในอดีตนั้นได้กำหนดสถานที่มงคลไว้คือ ประตูเมือง, แจ่งเมือง และบริเวณกลางเมืองหรือสะดือเมือง ให้มีความสอดคล้องกับชัยภูมิ การวางผังเมืองและความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ โดยได้ยึดถือ คัมภีร์มหาทักษา ซึ่งจะประกอบตามทิศของแผนภูมินครอันประกอบด้วยบริวารเมือง อายุเมือง เดชเมือง ศรีเมือง มูลเมือง อุตสาหเมือง มนตรีเมืองและกาลกิณีเมือง
                 นับตั้งแต่มีการสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1839 เป็นต้นมา เจ้าผู้ครองนครและไพร่ฟ้าประชาชนจะร่วมกันทำพิธีสืบชะตาเมืองอันเป็นพระราชพิธีต่ออายุเมืองให้ยืนยงคงอยู่และสร้างความสุขสมบูรณ์แก่อาณาประชาราษฏร์ โดยก่อนหน้าที่จะทำพิธีสืบชะตาเมืองจะทำพิธี บูชาไหว้เสาอินทขีล หรือ ประเพณีใส่ขันดอกอินทขีล อันเป็นเสาหลักของเมืองเสียก่อน ซึ่งจะกระทำในราวปลายเดือน 8 เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ไปเสร็จสิ้นเดือน 9 เหนือ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ประเพณี 8 เข้า 9 ออก” หลังจากนั้นแล้วก็จะทำพิธีสืบชะตาเมือง
                 ศาสตราจารย์มณี พยอมยงค์ ได้กล่าวไว้ว่า มีคัมภีร์สืบชะตาเมืองเชียงใหม่หลายฉบับ โดยเฉพาะได้กล่าวถึงพิธีสืบชะตาเมืองในสมัยพระเมืองแก้ว แห่งราชวงศ์มังราย (พ.ศ.2038 – 2068) ไว้อย่างละเอียดว่า “พระมหากษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่จะทรงเป็นประธานในพิธีสืบชะตาเมืองเพื่อให้เกิดความสุขสวัสดีแก่บ้านเมืองและประชาชน” การสืบชะตาเมืองตามความเชื่อของชาวล้านนาเป็นพิธีที่จัดทำขึ้นเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง ทั้งนี้เพราะบางครั้งเห็นว่าบ้านเมืองเกิดความเดือดร้อนจากอิทธิพลของดาวพระเคราะห์มาเบียดบัง ทำให้เมืองเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายเพราะการจลาจล การศึกและเกิดโรคภัยไข้เจ็บแก่ประชาชนในเมือง ดังนั้นจึงต้องทำพิธีสืบชะตาเมืองขึ้น
                 ในคัมภีร์สืบชะตาเมืองเชียงใหม่นั้นยังระบุถึงการเตรียมพิธีสืบชะตาเมืองด้วย เช่นกล่าวถึงการนิมนต์พระสงฆ์จำนวนเท่าอายุของเมืองมาสวดมนต์ การนิมนต์พระพุทธรูปแก้วเสตังคมณี จากวัดเชียงมั่นเข้าร่วมพิธี ฯลฯ นอกจากนี้ในคัมภีร์ยังได้กล่าวถึงการบูชาคัมภีร์ธัมม์สารากริกวิชชานสูตร จากวัดเชียงมั่น 3 ผูก บูชาคัมภีร์ธัมม์มงคลตันติง จากวัดดวงดี 3 ผูก บูชาคัมภีร์ธัมม์นครฐาน จากวัดโชติการาม 1 ผูก บูชาคัมภีร์ธัมม์ปารมี จากวัดสิงหาราม 1 ผูกและบูชาคัมภีร์ธัมม์อุณหัสวิชัย จากวัดชัยชนะสถานอีก 1 ผูก
                 ในการสืบชะตาเมืองนั้นอาจารย์ผู้ประกอบพิธีซึ่งเป็นผู้นำจะได้เอาสายสิญน์พันรอบกำแพงเมืองแล้วโยงจากประตูช้างเผือก ประตูสวนดอก ประตูเชียงใหม่ ประตูสวนปรุงและประตูท่าแพเข้าสู่กลางเวียงและนำส่วนปลายสายสิญน์สอดไว้ใต้อาสนะของพระพุทธรูปและพระสงฆ์ จากนั้นจะต่อสายสิญน์พาดโยงเข้าไปสู่บ้านทุกหลังคา
                 ในอดีตการจัดให้มีพิธีสืบชะตาเมืองเป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่ เพราะเกี่ยวเนื่องกับบ้านเมืองมิใช่เป็นเรื่องเกี่ยวกับบุคคล ดังนั้นบริเวณรอบๆ เมืองจึงถูกกำหนดจุดมงคลต่างๆ ไว้มากมาย เช่น ที่บริเวณวังหลัง วังหน้าและวังหลวงรวม 3 แห่ง จะนิมนต์พระสงฆ์ไปโปรดเมตตาทำพิธีทางศาสนารวม 19 รูป ที่บริเวณกลางเวียงจะนิมนต์พระสงฆ์จำนวน 19 รูป ประตูเวียงทั้ง 5 ประตูและแจ่งเมืองอีก 4 แจ่งนั้นจะนิมนต์พระสงฆ์ทำพิธีปริตตะมงคลสวดมนต์ (เจริญพระพุทธมนต์) โดยพระสงฆ์จะเดินรอบเวียงตั้งแต่ประตูสวนดอกไปจนถึงแจ่งหัวลิน พระสงฆ์ที่แจ่งหัวรินจะรับช่วงสวดต่อไปถึงประตูช้างเผือกและพระสงฆ์ที่ประตูช้างเผือกก็จะรับช่วงสวดต่อไปตามจุดพิธีกรรมต่างๆ โดยลำดับถึง 9 แห่ง
                 ปัจจุบันพิธีสืบชะตาโบราณแบบนี้ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว เนื่องจากเพราะพิธีกรรมต่างๆ ได้เปลี่ยนไปตามกาลเวลา พิธีสืบชะตาเมืองเชียงใหม่จึงได้ทำเป็นจุดบริเวณที่มีความสำคัญเท่านั้น เช่น แจ่งเมืองทั้ง 4 แจ่งที่ประตูเมืองทั้ง 5 ประตูและบริเวณจุดกลางเมืองหรือที่สะดือเมืองตรงอนุสาวรีย์ 3 กษัตริย์เท่านั้น
                 การทำพิธีสืบชะตาเมืองเชียงใหม่นั้นจะเห็นได้ถึงความศรัทธาและความสามัคคีของชาวบ้านในการออกมาร่วมทำบุญ ซึ่งนอกเหนือจากความสามัคคีแล้ว สิ่งหนึ่งที่แฝงมาด้วยก็คือ ความเชื่อในเรื่องพิธีกรรมที่สามารถบันดาลให้เกิดความสุขทางใจขึ้น โดยความเชื่อเหล่านี้จะเกี่ยวเนื่องกับหลักธรรมทางศาสนา เป็นประหนึ่งแสงสว่างที่ส่องให้พุทธศาสนิกชนก้าวตามรอยที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้แนะเอาไว้เมื่อกว่า 2,500 กว่าปีที่แล้ว

อ้างอิงจาก เวปไซต์เชียงใหม่นิวส์ https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/600674/
 

แกลลอรี่