ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร มช. เปลี่ยนขยะจากเศษอาหาร เป็นพลังงานทดแทน

25 มิถุนายน 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

     

       แผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ได้กำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุกด้านนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ที่มุ่งเน้นการเป็นผู้นำด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีแนวคิดหลัก คือ การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) สู่พลังงานสะอาด สร้างความสุข และสร้างสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และใช้หลักการบริหารจัดการแบบ “มช.เมืองอัจฉริยะ” โดยคำนึงถึงชุมชนเมืองมหาวิทยาลัยและชุมชนรอบข้างด้วย


       ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากยุทธศาสตร์ของ มช. เรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เชิงรุก ภายในช่วงเวลา 5-10 ปี โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นผู้นำทางด้านภาคประชาสังคมในการบริหารจัดการชีวิตหรือเมืองทั้งเมืองอย่างยั่งยืน พลังงานและสิ่งแวดล้อมก็เป็นส่วนหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะมีเรื่องของน้ำเสีย คุณภาพอากาศ และขยะ ที่ทุกคนผลิตขึ้นมาวันหนึ่งหลายกิโล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประชากรอาศัยอยู่ทั้งฝั่งการศึกษา ฝั่งหอพัก รวมทั้งโรงพยาบาล เปรียบเสมือนเมืองหรือเทศบาลเมืองเล็ก ๆ เลยทีเดียว ดังนั้น หากจะเป็นต้นแบบให้ภาคประชาสังคมรับรู้ว่า กระบวนการจัดการขยะที่ถูกต้องเป็นอย่างไร เราจึงต้องสร้างศูนย์เรียนรู้ขึ้นมา เรียกว่า “ศูนย์บริหารจัดการขยะชีวมวลแบบครบวงจร” ตั้งอยู่ในเขตบริเวณพื้นที่ของไร่แม่เหียะ โดยมช.จะทำงานร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ รวบรวมขยะทั้งหมด ทั้งฝั่งสวนสัก ฝั่งสวนดอก รวมทั้งฝั่งแม่เหียะ ทั้งหมดมาส่งที่นี่เท่านั้น เมื่อมาถึงโรงงานจะมีเครื่องจักรในการคัดแยก เพื่อเอาสารอินทรีย์ที่เรียกว่าเศษอาหารหรือขยะเปียก คัดแยกออกจากขยะแห้งให้ได้มากที่สุด เพื่อนำไปหมักเป็นก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานทดแทน ดังนั้น ขยะส่วนที่เหลือ เมื่อแห้งแล้วจะมีการปนเปื้อนของสารอินทรีย์น้อยลง เป็นวัสดุที่สามารถเอาไปใช้รีไซเคิลนำไปประยุกต์ใช้เป็นวัสดุอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ได้ต่อไป ดังนั้น แทนที่จะเอาไปฝังรวมกันหรือไปเผารวมกัน แล้วสร้างมลพิษให้ภายนอก เราสามารถบริหารจัดการขยะโดยนำมาจัดการในเขตพื้นที่ของเรา ทำให้ลดการเอาไปฝังกลบ ไปเผาข้างนอกได้ ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์


      เดิมทุกคนมีความคิดว่า ขอให้ทิ้งทุกอย่างลงไปในถังขยะ ถือว่าทำหน้าที่ของเราแล้ว จากนั้นเป็นหน้าที่ของเทศบาล อบต. ต้องจัดการต่อไป แต่แท้จริงแล้วหน้าที่ของคนที่อยู่ในภาคสังคมจะต้องจัดการอย่างถูกต้อง เศษวัสดุใดที่พอจะคัดแยกได้ ที่หมักย่อยได้ก็ควรจะทำ พอเกิดศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นี้ขึ้นมา เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนใน มช. ให้เป็นการเรียนรู้และฝึกฝนให้นักศึกษาที่เข้ามาอยู่ ออกไปใช้ชีวิตได้ ก็ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญกับการดำรงชีวิต อาจจะมีความสะดวกและความคุ้นเคยน้อยลง จากเดิมที่เราทิ้งอะไรรวมกันก็ได้ ภายหลังมีศูนย์บริหารจัดการชีวมวลฯ ขึ้นมา ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ จะต้องแยกขยะโรงอาหาร แยกเศษวัสดุ ส่วนใดที่รีไซเคิลได้ ขวดแก้ว พลาสติก กระป๋อง ก็ต้องแยกไปอีกแห่งหนึ่ง พอมีการจัดการแบบนี้ในชีวิต ฝั่งของโรงบริหารจัดการขยะที่ต่อเชื่อมกันมา ก็จัดการได้ง่ายขึ้น ผลตอบรับของการเปลี่ยนแปลงนี้ ได้รับการยอมรับบ้าง ไม่ยอมรับบ้าง แต่สุดท้ายก็เชื่อว่า สังคมเมืองทั้งภายในและต่างประเทศ ก็ต้องเดินไปในทิศทางนี้ ไม่อย่างนั้นเราต้องประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมแน่ ๆ แต่ถึงอย่างไรก็ได้ผลตอบรับที่ดี ขยะลดน้อยลง ได้รับความร่วมมือจากประชากรใน มช. ที่เป็นนักศึกษา รวมทั้งผู้ที่มาติดต่อโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เมื่อมีมาตรการต่าง ๆ เช่น ถังขยะแยกสี โรงอาหารเก็บขยะเศษอาหาร ขยะที่เป็นพวกไขมันเอากลับมาทำน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ เป็นต้น พอมาตรการนี้ สร้างความคุ้นชินเข้าไปกับประชากรในเมือง ก็จะเกิดการปรับตัวให้เข้ากับระบบใหม่ได้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความคาดหวังว่า อยากให้นักศึกษาและบุคคลภายนอกได้มาเรียนรู้องค์ความรู้และมาตรการเหล่านี้และเผยแพร่ไปสู่สังคมภายนอก เพื่อร่วมกันสร้างความตระหนักและปลุกจิตสำนึก ร่วมพัฒนาและส่งเสริมการใช้พลังงานของประเทศอย่างรู้คุณค่า ก่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและก้าวไปสู่ความยั่งยืนได้ในที่สุด


       ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นศูนย์เรียนรู้ด้วย อยากจะเรียนเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งจากเทศบาล รวมทั้งจากหมู่บ้านจัดสรร หน่วยงานจากทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนบุคคลผู้สนใจทั่วไป ได้เข้ามาศึกษา เรียนรู้ ศึกษาวิธีการบริหารจัดการศูนย์บริหารจัดการชีวมวลแบบครบวงจร แบบเป็นคอร์สอบรมได้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความยินดีที่จะเผยแพร่องค์ความรู้เหล่านี้ รวมทั้งการนำเอาขยะไปผลิตเป็นพลังงานทดแทนต่าง ๆ แต่สุดท้ายจริง ๆ จิตสำนึกของทุกคนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด การคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ แล้วอย่าคิดว่าแยกไปเดี๋ยวเทศบาลก็เอาไปรวมกัน เดี๋ยวนี้ ทางเทศบาลมีหลักการคัดแยกขยะที่ถูกต้อง ไม่ได้นำมารวมกันแล้ว อยากให้พวกเราช่วยกันเพื่อให้โลกนี้หรือโลกของลูกหลานเรา จะต้องมีชีวิตที่ดีมีสิ่งแวดล้อมที่ดีอยู่ในอนาคตต่อไป


แกลลอรี่