สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยภูมิปัญญาล้านนาสร้างสรรค์กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

6 มกราคม 2564

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เอกชัย มหาเอก รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัย เชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคของวัฒนธรรมล้านนา โดยได้ให้ความสำคัญต่อการรักษาองค์ความรู้ภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมล้านนาให้คงอยู่ พร้อมสืบสาน และผสมผสานให้เข้ากับความทันสมัยของวิถีชีวิตในยุคปัจจุบัน


"ล้านนาสร้างสรรค์ หรือ Creative Lanna" เป็นยุทธศาสตร์เชิงรุกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ที่เน้นการเป็นศูนย์กลางการรักษา อนุรักษ์และพัฒนาด้วยการสร้างสรรค์วัฒนธรรมล้านนา เพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าเพิ่มจากสินค้า บริการ หรือการท่องเที่ยวจากต้นทุนทางภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมล้านนา มีการสร้างและรวบรวมองค์ความรู้พร้อมใช้ เพื่อนำไปทำให้ประโยชน์ต่อชุมชนให้สามารถนำไปต่อยอดด้วยการประยุกต์ บูรณาการกับการออกแบบรสนิยมวิถีชีวิตสมัยใหม่ ทำให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมสมัยและเติบโตด้วยตนเองได้ ซึ่งที่ผ่านมาสามารถสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมได้ 101 ล้านบาท ด้วยการสนับสนุนการท่องเที่ยวและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ในระยะแรกของการดำเนินโครงการ "การพัฒนาย่านสร้างสรรค์ (Creative District)" และ "ศูนย์ออกแบบการพัฒนางานล้านนาสร้างสรรค์ (CLC)" เพื่อเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ล้านนาสร้างสรรค์


ในการดำเนินงานมหาวิทยาลัยได้กำหนดเป้าหมายกลยุทธ์ด้านล้านนาสร้างสรรค์ไว้ 4 กลยุทธ์หลัก หรือเรียกอีกอย่างว่า 4 แจ่งล้านนา เพื่อดำเนินการครอบคลุมทุกด้านเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย
1. ภูมิปัญญาล้านนา (Lanna Wisdom) ศูนย์องค์ความรู้ด้านล้านนา เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป เป็นข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว
2. คลังความรู้ล้านนา (Lanna Knowledge) ฐานข้อมูลด้านล้านนาความหลากหลายทางวัฒนธรรมและผลงานตีพิมพ์ทางวิชาการในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ
3. ล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna) นวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนา ธุรกิจเกิดใหม่และผลงานนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่ต่อยอดจากความรู้ด้านล้านนา
4. ภูมิทัศน์วัฒนธรรม (Lanna Lanscape) กิจกรรมที่ดำเนินการเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่และสร้างบรรยากาศล้านนาสร้างสรรค์


สำหรับผลการดำเนินงานปี พ.ศ. 2562-2563 นั้น ได้มีการดำเนินกลยุทธ์ผ่านโครงการของแต่ละหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นโครงการประเภทล้านนาคดี 8 ด้านภูมิปัญญาล้านนาสร้างสรรค์ เพื่อการต่อยอดที่ยั่งยืนผ่านนวัตกรรม ซึ่งตอบตัวชี้วัด Sustainable Development Goals (SDG) ด้านที่ 1 ขจัดความยากจน ทุกรูปแบบ ทุกสถานที่, ด้านที่ 3 รับรองการมีสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนทุกช่วงอายุ, ด้านที่ 4 รับรองการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน, ด้านที่ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัยทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงการที่ดำเนินการ ได้แก่

1. โครงการส่งเสริมศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการ ผ่านกระบวนการคิดและพัฒนาธุรกิจล้านนาสร้างสรรค์ “Lanna Essence Workshop” (ปั้นคน)
2.โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมล้านนาสร้างสรรค์ “Creative Lanna League” (ต่อยอดธุรกิจ)
3. โครงการประกวดศิลปะและการออกแบบ (Art & Design Contest: Lanna Contemporary 2020)
4. โครงการคิดถึงเชียงใหม่ (Visit Chiang Mai, I miss you) ภายใต้โครงการคิด..แล้วต้องไปให้...ถึง


จากความทุ่มเทของมหาวิทยาลัยส่งผลให้การดำเนินงานด้านล้านนาสร้างสรรค์ได้รับรางวัลและการประกาศเกียรติคุณระดับประเทศ ได้แก่
1. พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช. ได้รับรางวัลพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ดีเด่น ประจำปี 2563 (Museum Thailand Awards 2020) ประเภทพิพิธภัณฑ์ด้านสังคม ศิลปะและวัฒนธรรมดีเด่น ด้านการอนุรักษ์และสืบสาน
2. ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ได้รับรางวัล Museum Thailand Awards 2020ประเภทรางวัลพิพิธภัณฑ์ขวัญใจมหาชน ประจำปี 2563 (Museum Thailand Popular Vote 2020)


ในปี 2564-2565 การดำเนินงานด้านล้านนาสร้างสรรค์ จะสานต่อ 4 แจ่งล้านนา โดยจะขับเคลื่อนผ่านโครงการต่างๆ ได้แก่
1.โครงการเทศกาลล้านนาสร้างสรรค์ (Lanna Festival) ในปี พ.ศ. 2564 และปีพ.ศ. 2565
2.โครงการข่วง(ลาน)วัฒนธรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
3.โครงการเร่งสู่ความเป็นเลิศในการวิจัยและนวัตกรรมด้านล้านนาสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการเพิ่มศักยภาพข้อมูลสู่ตีพิมพ์บทความในฐานข้อมูล Scorpus
4.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่าน CMU Lifelong Education
5.โครงการออกแบบก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna Center: CLC) (สำเร็จร้อยละ 100 ในปี พ.ศ. 2565) ส่งเสริมหน่วยงาน Sandbox เพื่อรองรับการสร้างผลิตภัณฑ์ บริการและการบริหารจัดการ มุ่งสู่การบรรลุความสำเร็จตามวิสัยทัศน์

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีจัดทำ CMU Lanna Portal เว็บไซต์รวบรวมองค์ความรู้ด้านล้านนาสร้างสรรค์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ทุกคนสามารถเข้าไปศึกษาและนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ทุกที่ทุกเวลา ที่ creativelanna.cmu.ac.th

แกลลอรี่