มช. ขยายผล “ข้าวสายพันธุ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมข้าวไทย 4.0” มช.-ราชบุรี โมเดล สู่ 15 จังหวัด

15 กันยายน 2563

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จับมือ สภาเกษตรฯ 15 จังหวัด ขยายผล มช.-ราชบุรี โมเดล “ข้าวสายพันธุ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมข้าวไทย 4.0” โดยเทคโนโลยีชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ในข้าวด้วยลำไอออนพลังงานต่ำ จากนวัตกรรมเครื่องเร่งอนุภาคที่ทีมวิจัย มช. พัฒนาขึ้นเองแบบครบวงจรแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศ ข้าวลำไอออน 3 สายพันธุ์ใหม่ ที่พร้อมขยายผลช่วยเหลือเกษตรกร 15 จังหวัด ได้แก่

1) ข้าวหอมเพื่อการบริโภค (มช 10-1 หรือ FRK-1):
2) ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมแป้ง (ศฟ 10-5 หรือ MSY-4): เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมแป้งและการแปรรูปเป็นเส้นขนมจีน
3) ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ (ศฟ 10-7 หรือ OSSY-23): เหมาะที่จะนำไปเป็นอาหารสัตว์ เช่นหมูและไก่ หรือทำเป็นข้าวพาร์บอยล์ (parboiled rice)

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานการวิจัยทางด้านข้าวเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมและบุคลากร ระหว่าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสภาเกษตรจังหวัด 15 จังหวัด โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสภาเกษตรจังหวัด 15 จังหวัด ร่วมลงนาม เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 ณ ห้องประชุมทองกวาว ชั้น 2 สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ใช้เวลาวิจัยกว่า 10 ปี ค้นคว้าวิจัยวิธีการแบบใหม่ ที่ไม่ใช่ GMO ในการชักนำให้พืชกลายพันธุ์อย่างมีประสิทธิภาพด้วยลำไอออนที่ผลิตจากเครื่องเร่งอนุภาคที่พัฒนาขึ้นเองแบบครบวงจรแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศ และต่อมาได้พัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมการเกษตรที่เรียกว่า “เทคโนโลยีชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ในข้าวด้วยลำไอออนพลังงานต่ำ” ที่สามารถใช้พัฒนาปรับปรุงข้าวคุณภาพสายพันธุ์ใหม่หลากหลายชนิดได้ในเวลาที่สั้นกว่าวิธีการแบบดั้งเดิมมาก โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณวิจัยและพัฒนาจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นเวลาหลายปี ให้แก่นักวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ข้าวคุณภาพสายพันธุ์ใหม่เรียกสั้นๆว่า “ข้าวลำไอออน” ได้เริ่มทดลองปลูกที่จังหวัดราชบุรี ภายใต้โครงการ “มช.-ราชบุรีโมเดล” จากความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรี ข้าวลำไอออนให้ผลผลิตในพื้นที่ภาคตะวันตกเกินกว่า 1,000 กิโลกรัม / ไร่ ต่อมาเมื่อขยายไปทดลองปลูกที่จังหวัด อุตรดิตถ์ โดยการดำเนินการของสภาเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์ ทำให้ผลผลิตข้าวลำไอออนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างก็มากเกินกว่า 1,000 กิโลกรัม / ไร่ เช่นกัน


ผลการดำเนินการทดสอบข้าวลำไอออน ทั้ง 3 สายพันธุ์ ในแปลงทดสอบการปรับตัวที่ จ.ราชบุรี และ จ.อุตรดิตถ์ ในปี พ.ศ.2562 และ 2563 พบว่าข้าวปรับตัวได้ดี ให้ผลผลิตสูง เป็นที่พึงพอใจของชาวนาผู้เพาะปลูก และมีคุณภาพเมล็ดดี เป็นที่พึงพอใจของผู้ประกอบการข้าวในท้องถิ่น

จากข้อเท็จจริงอันเป็นที่ทราบกันดีเรื่องผลผลิตที่ต่ำมากของข้าวไทย คือที่ค่าเฉลี่ย 460 กิโลกรัม / ไร่ ซึ่งเป็นปัญหาที่กัดกร่อนความเจริญของอาชีพชาวนาตลอดเวลาที่ผ่านมา ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน เมื่อข้าวลำไอออนให้ผลผลิตสูงกว่า 1,000 กิโลกรัม / ไร่ ตอบโจทย์ของชาวนาอย่างตรงเป้า ข้าวลำไอออนจึงได้รับความสนใจจากสภาเกษตรกรหลายจังหวัด และมีความต้องการที่จะทำการนำข้าวลำไอออน จำนวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่

1) ข้าวหอมเพื่อการบริโภค (มช 10-1 หรือ FRK-1): เป็นข้าวเจ้าหอมพื้นอ่อน ไวต่อช่วงแสง มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 124 วัน (โดยวิธีปักดำ) ค่อนข้างต้านทานโรคใบไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มีคุณสมบัติเหมาะสำหรับการบริโภค มีการยอมรับของผู้บริโภคใกล้เคียงกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในแง่ของสี, รสชาติ และเนื้อสัมผัส แต่จะนุ่มและคงสภาพความนุ่มนานกว่าแม้เมื่อเก็บไว้จนเย็นแล้ว และยังมีระดับสารหอม 2AP สูงถึง 6.55 ppm สูงกว่าระดับสารหอม 4.74 ppm ของข้าวขาวดอกมะลิ 105


2) ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมแป้ง (ศฟ 10-5 หรือ MSY-4): เป็นข้าวเจ้าหอมอ่อนพื้นแข็ง ไม่ไวต่อช่วงแสง มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 122 วัน ค่อนข้างต้านทานโรคใบไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มีสารหอม 2AP ระดับ 0.79 ppm เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมแป้งและการแปรรูปเป็นเส้นขนมจีน


3) ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ (ศฟ 10-7 หรือ OSSY-23): เป็นข้าวเจ้าพื้นแข็ง ไม่ไวต่อช่วงแสง มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 122 วัน ค่อนข้างต้านทานโรคใบไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มีปริมาณโปรตีน 10.3% มีปริมาณไขมัน 3.6% เหมาะที่จะนำไปเป็นอาหารสัตว์ เช่นหมูและไก่ หรือทำเป็นข้าวพาร์บอยล์ (parboiled rice)


โดยข้าวทั้ง 3 สายพันธุ์นี้กำลังจะได้รับการออกหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียน ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 จากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สภาเกษตรกรหลายจังหวัดต้องการขยายพื้นที่ปลูกไปสู่จังหวัดของตัวเอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้ขยายผลสำเสร็จ มช.-ราชบุรี โมเดล สู่ 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี กำแพงเพชร ชัยนาท ปทุมธานี ปราจีนบุรี จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก แพร่ ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย อยุธยา อ่างทอง และจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งจะไม่แต่เพียงเป็นกำลังใจให้เกษตรกรเชื่อมั่นในอาชีพทำนา มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ยังจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่ในการประกอบอาชีพเกษตรกรอีกด้วย


การขยายผล มช.-ราชบุรี โมเดล “ข้าวสายพันธุ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมข้าวไทย 4.0” สู่ 15 จังหวัดในครั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาเกษตรกรด้านข้าว รวมไปถึงส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวลำไอออน การพัฒนาคุณภาพผลผลิตข้าวลำไอออนและการตลาดแบบครบวงจร จึงทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความสุขแก่ชาวนาไทยต่อไป


ดูภาพเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cmu.ac.th/th/article/3b2bf64f-194c-4c60-8212-4781a2a90058


รูปที่ 1 นักวิจัยกับเครื่องผลิตลำไอออนขนาดกะทัดรัดที่ใช้ในโครงการนี้ ซึ่งสร้างขึ้นเอง (ติดตั้งอยู่ที่ศูนย์วิจัยฟิสิกส์ของพลาสมาและลำอนุภาค ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)



รูปที่ 2 ข้าว ศฟ 10-7 (OSSY-23) ระยะออกรวง ที่แปลงนา จ.อุตรดิตถ์ (ถ่ายเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563)



รูปที่ 3 รวงข้าว ศฟ 10-7 (OSSY-23) ที่แปลงนา จ.อุตรดิตถ์ (ถ่ายเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563)



รูปที่ 4 การประเมินความพึงพอใจข้าว ศฟ 10-7 (OSSY-23) ที่แปลงนา จ.อุตรดิตถ์ โดยชาวนาผู้ปลูกข้าวและผู้ประกอบการข้าว (ถ่ายเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2563)



รูปที่ 5 การเก็บเกี่ยวข้าว ศฟ 10-7 (OSSY-23) ที่แปลงนา จ.ราชบุรี (ถ่ายเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563)


#CMU #ChiangMaiUniversity #มช #มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

#มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

#CMUSDGs #CMUSDG1 #CMUSDG2 #CMUSDG3 #CMUSDG8 #CMUSDG9

#SDG1 #SDG2  #SDG3 #SDG8 #SDG9

แกลลอรี่