มช. เร่งเครื่อง! ดันงานวิจัยสู่ธุรกิจจริงผ่าน ‘อ่างแก้ว โฮลดิ้ง’ หนุนตั้งบริษัทเทคโนโลยีขับเคลื่อน New S-Curve ของไทย

26 พฤษภาคม 2568

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

           มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้นำมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมของไทย พร้อมยกระดับกลไกสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจจากงานวิจัย (Spin-off) ส่งเสริมการนำงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ เพิ่มเติมจากรูปแบบเดิมที่เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชน โดยมี อ่างแก้ว โฮลดิ้ง เป็นเครื่องมือสำคัญในการแปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุนให้อาจารย์และนักศึกษาสามารถตั้งบริษัทจากงานวิจัย เปิดโอกาสเส้นทางชีวิตใหม่ให้นักศึกษาปริญญาโทและเอกเป็น CEO/CTO เข้าสู่กระบวนการระดมทุน สร้างการเติบโตของบริษัทเทคโนโลยี นำไปสู่การจ้างงานทักษะสูงในพื้นที่
ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า อ่างแก้ว โฮลดิ้ง เป็นบริษัทโฮลดิ้งลำดับแรก ๆ ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2561 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น หนึ่งล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งบริษัทจากผลงานวิจัย เป็นทางเลือกใหม่ในการผลักดันงานวิจัยโดยเฉพาะ Deep Tech ออกสู่เชิงพาณิชย์ เปิดโอกาสให้อาจารย์และนักศึกษาได้ทำงานเพื่อเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงในรูปแบบบริษัท สร้างธุรกิจที่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม และผลตอบแทนกลับสู่มหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน ในปัจจุบัน อ่างแก้ว โฮลดิ้ง มีนโยบายการลงทุน 5 นโยบาย ได้แก่ (1) การลงทุนในธุรกิจจากองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของมหาวิทยาลัย (2) การ Joint Venture กับบริษัทเอกชนมืออาชีพ (3) การแปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุน (4) การลงทุนใน Startup ที่มีศักยภาพและอัตราการเติบโตสูง และ (5) การทำงานร่วมกับกองทุนหรือโฮลดิ้งอื่นๆ โดยในปี 2568 อ่างแก้ว โฮลดิ้ง มีบริษัทลูกรวมจำนวน 22 บริษัท ที่มีการดำเนินธุรกิจ มีผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด และมีนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

           เพื่อเป็นการแสดงถึงผลงานของ อ่างแก้ว โฮลดิ้ง เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 ณ อาคารอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ ได้มีการจัดแสดงผลงานของบริษัท Spin-off จากงานวิจัยที่เป็นบริษัทลูกของ อ่างแก้ว โฮลดิ้ง จำนวน 9 บริษัท ให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุนที่มาร่วมงาน IMO Day ภายใต้ธีม CMU x Raisewell: Bridging Thai Innovation and Startups to Global Ecosystem

           ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน มช. ได้มีกลไกภายในมหาลัยที่สนับสนุนการตั้งบริษัทจากงานวิจัยที่ครบวงจร อาทิ โปรแกรมคัดเลือกและบ่มเพาะ Deep Tech ที่มีศักยภาพเชิงธุรกิจ โปรแกรมการวิเคราะห์และบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา โปรแกรมส่งเสริมการทดสอบตลาดทั้งในและต่างประเทศ โปรแกรมสนับสนุนให้นักศึกษาตั้งบริษัทผ่านแพลตฟอร์ม builds และโปรแกรมสนับสนุนนักศึกษาปริญญาโทและเอกให้เป็น CEO/CTO ของบริษัทจากงานวิจัย โดยตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา บริษัทลูกทั้งหมดสร้างรายได้รวมมากกว่า 530 ล้านบาท ทำให้เกิดการนำงานวิจัยไปสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์มากกว่า 20 ผลงาน รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักวิจัยกว่า 340 คน และนักศึกษามากกว่า 150 คน ได้เข้าสู่กระบวนการทำงานและเรียนรู้จากประสบการณ์จริงในภาคธุรกิจ

           ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวปิดท้ายว่า ในปัจจุบัน อ่างแก้ว โฮลดิ้ง ได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 10 ล้านบาท และเริ่มมีการปันผลให้กับผู้ถือหุ้น และคณะส่วนงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับอาจารย์ นักวิจัย และนักลงทุนในการทำงานร่วมกับ อ่างแก้ว โฮลดิ้ง โดยในอนาคตอันใกล้นี้ มีแผนที่จะเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท อ่างแก้ว โฮลดิ้ง เพื่อรองรับการขยายตัวและการเติบโตของบริษัทลูกของ อ่างแก้ว โฮลดิ้ง และการลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ยังมีนโยบายในการสนับสนุนให้ มช. มีกลไกใหม่ ๆ ในการยกระดับงานวิจัยสนับสนุนอาจารย์ นักศึกษา เพื่อเชื่อมต่อการทำงานกับ อ่างแก้ว โฮลดิ้ง รวมถึงการทำงานกับ Raisewell Ventures เพื่อผลักดันเทคโนโลยีของ มช. ให้เชื่อมกับระบบนิเวศนวัตกรรมและการลงทุนในระดับโลก นำไปสู่การสร้างผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจและสังคมในองค์รวมอย่างยั่งยืนต่อไป


แกลลอรี่