คณะสังคมศาสตร์จับมือคณะเกษตรศาสตร์ มช. ลงพื้นที่ชุมชนปกาเกอะญอเมืองอาง หารือการพัฒนาระบบวนเกษตร

5 เมษายน 2565

คณะสังคมศาสตร์

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2565 ดร.ชวิศ ศรีมณี และ ผศ.ดร.อารตี อยุทธคร คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ ผศ.ดร.บุศรา ลิ้มนิรันดร์กุล และผศ. ธีระพงษ์ เสาวภาคย์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงพื้นที่บ้านเมืองอาง หมู่ที่ 9 เขตตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาระบบวนเกษตร และการปลูกพืชแบบผสมผสานเพื่อเพิ่มรายได้และเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งตอบสนองตามความต้องการของชุมชน

การหารือครั้งนี้มีผู้นำชาวบ้าน ได้แก่ นายวัชรินทร์ พจนบัณฑิต ผู้ใหญ่บ้าน (พ่อหลวงแม็ค) นายพะเธอ สันติภาพพงค์ไพร ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน นส. เกศรา เดโชชัยไกวัลย์ สมาชิกสภาเทศบาลบ้านหลวง และนายพิพัฒน์พงศ์ พิมพ์โคตร โครงการหลวง ดอยอินทนนท์ เข้าร่วมนำเสนอความต้องการของชุมชนและแสวงหาความเป็นไปได้ในการพัฒนาแนวทางดังกล่าว

การลงพื้นที่สนามดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “โครงการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมทางเศรษฐกิจชุมชนและการพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ระบบภูมิสารสนเทศทรัพยากรชุมชน” ของคณะสังคมศาสตร์ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยวิจัยรับใช้สังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ชุมชนเมืองอาง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ปกาเกอะญอ มีประชากรประมาณ 600 คนจาก 222 ครัวเรือน ใน 6 หย่อมบ้าน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตรและอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่การส่งเสริมอาชีพของมูลนิธิโครงการหลวงดอยอินทนนท์ในการปลูกผักอินทรีย์ ชุมชนนี้ถือว่าเป็นชุมชนต้นแบบในการผลิตผักอินทรีย์ตามหลักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เกิดการพัฒนารายได้ของชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีเนื่องจากลักษณะทางกายภาพส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภูเขาและป่าไม้ การขยายพื้นที่เกษตรกรรมจึงมีข้อจำกัด ชุมชนจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาการใช้พื้นที่ร่วมระหว่างพื้นที่ป่ากับการเกษตรให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ดังนั้น จึงประสงค์จะพัฒนาระบบวนเกษตรชุมชน ซึ่งหน่วยงานวิชาการ ประกอบด้วย คณะสังคมศาสตร์ และคณะเกษตรศาสตร์ มช.จึงได้เข้าไปเสริมความต้องการของชุมชน แบ่งปันประสบการณ์ความรู้ที่จะใช้พัฒนาพื้นที่วนเกษตรให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน

พ่อหลวงแม็ค เล่าว่า พืชหรือต้นไม้ ที่ทางโครงการหลวงอินทนนท์ส่งเสริมให้ชาวบ้านเมืองอางปลูก บางอย่างนำมาปลูกแต่ไม่สามารถเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น เมเปิล อะโวคาโด ที่นำมาปลูกในสภาพที่ดินที่มีความสูงไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต จึงทำให้ปลูกไปก็มีแต่ใบที่ผลัดออกมาไม่สามารถเก็บพืชผลได้

ระบบวนเกษตรเป็นตัวเชื่อมระหว่างการเกษตรและป่าไม้ และให้แนวทางการใช้ประโยชน์แบบองค์รวม ที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่นั่งยืน (SDG) เป็นแรงกระตุ้นให้ผู้กำหนดนโยบายกระทำการสร้างโครงสร้างที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนจะช่วยปรับปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งสามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายการมีสภาวะแวดล้อมที่ดี และการเติบโตทางเศรษฐกิจ
สำหรับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนการผลิตสู่ระบบวนเกษตร เกิดจากองค์ประกอบหลายด้าน ทั้งปัจจัยภายในที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร ต้องผ่านการเรียนรู้ และยอมรับการนำเอานวัตกรรมเข้ามาใช้ ระบบเศรษฐกิจแบบครัวเรือน รวมไปถึงรูปแบบการดำเนินชีวิต ตระหนักถึงความมั่นคงด้านอาหาร ความหลากหลายของพืชสัตว์ และยังต้องตระหนักขนาดการถือครองที่ดิน ส่วนปัจจัยภายนอก เช่น สภาพทางกายภาพ นโยบายการสนับสนุนจากองค์กรภาครัฐและเอกชน ผู้นำเครือข่ายและเกษตรกร รวมไปถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมและความต้องการสินค้าของตลาด

ซึ่งอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะเกษตรศาสตร์ มช. ได้แนะนำแนวทางที่จะนำเอาต้นไม้ยืนต้นและพืชผักที่กินได้นำมาปลูกตามความเหมาะสมของสภาพอากาศและสภาพพื้นดิน โดย ดร.ชวิศ จะดูพื้นที่ทำกินไม่ให้ไปล้ำเส้นในเขตอุทยาน การเพาะปลูกไม้ยืนต้นพืชผักตามครัวเรือนจะปลูกในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ต้นไม้บางชนิดที่นำมาปลูกทำให้เกิดระบบหมุนเวียนของธาตุอาหารพืชในดิน ทำให้มีการเพิ่มธาตุอาหารเช่น การตรึงธาตุไนโตรเจน และการดึงธาตุอาหารที่ซึมลงสู่ดินชั้นล่างกลับมาใช้ประโยชน์ จากการที่พบปะพูดคุยกับชาวบ้านจึงได้ข้อสรุปที่จะนำเอาพืชผักหรือไม้ยืนต้นมาปลูก เช่น ผักหวานป่า + ผักหวานบ้าน ดอกแคร์ + มะขามป้อม ไม้พยูง ไม้สัก จะปลูกไว้เพื่อรอการเติบโตอีก 10 ปี ในอนาคตสามารถตัดขายหรือนำมาประกอบการสร้างบ้านได้ โดยที่ไม่ต้องใส่ใจการรดน้ำการดูแลอย่างสม่ำเสมอ ต้นไม้เหล่านี้ก็สามารถเจริญเติบโต รายได้แต่ละครัวเรือนก็จะมีเพิ่มมากขึ้นอีกหลายช่องทาง

ในส่วนของการนำระบบโปรแกรมประยุกต์ที่จะนำสนับสนุนการดำเนินงาน ดร.ชวิศ ศรีมณีกล่าวว่า “ในฐานะผู้วิจัย ต้องการที่จะสร้างระบบสนับสนุนการบริหารจัดการระบบเกษตรชุมชน และการพัฒนาระบบวนเกษตรชุมชนอย่างยั่งยืน พัฒนากลไกการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และเกษตรชุมชน พัฒนาทักษะและเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับระบบวนเกษตรให้แก่เกษตรกร (ชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ) โดยลักษณะงานที่ผู้วิจัยได้ดำเนินการ มีการสร้างระบบฐานข้อมูล และบริการแผนที่แบบออนไลน์ จัดหาและจัดทำแผนที่ ทางด้านกายภาพ ทรัพยากร และสังคมวัฒนธรรม สำรวจข้อมูลทางด้านกายภาพของชุมชนเพื่อที่จะวิเคราะห์ลักษณะทางกายภาพและพืชพันธุ์ในป่าชุมชนเพื่อคัดเลือกพันธุ์พืชนำร่องในระบบวนเกษตรชุมชน และยังมีการอบรมทักษะการเพาะปลูกพืชในระบบวนเกษตรด้วยพืชนำร่องแก่เกษตรกรโดยเป็นไปตามวิถีชีวิตภูมิปัญญาของชาวบ้านชาติพันธุ์ปกาเกอะญอเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเชิงวนเกษตร”

แกลลอรี่