รู้หรือไม่ อวัยวะภายในของคนเรามีความซับซ้อน ?

30 ตุลาคม 2563

คณะแพทยศาสตร์

รู้หรือไม่ อวัยวะภายในของคนเรามีความซับซ้อน ? 
ซึ่งปัจจุบันการวินิจฉัยที่แม่นยำของแพทย์ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ดังนั้น เมื่อแพทย์สั่งตรวจอวัยวะภายใน สิ่งที่จะสามารถช่วยให้วินิจฉัยได้ คือ การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT Scan เพื่อนำผลที่ได้มาประกอบการวินิจฉัยเพื่อตรวจหาสาเหตุของการเจ็บป่วยนั้นๆ ต่อไป


พญ.ฐปณีย์ วณิชชากร รังสีแพทย์และหัวหน้าแผนกบริการรังสี ศูนย์ศรีพัฒน์ฯ อธิบายว่า การตรวจทางรังสีด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomogaphy, CT Scan) เป็นการสร้างภาพทางรังสีด้วยเครื่อง เอกซเรย์ชนิดพิเศษ ที่ทำงานร่วมกับระบบคอมพิวเตอร์ในการประมวลผลข้อมูล เพื่อให้ได้ภาพทางรังสีแบบตัดขวาง ที่สามารถเห็นอวัยวะภายในของผู้ป่วย นอกจากนี้ยังสามารถนำข้อมูลไปสร้างภาพ 3 มิติ ส่วนต่างๆ ของร่างกายและหลอดเลือด โดยแสดงผลทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ และสามารถบันทึกภาพเอกซเรย์ได้ การตรวจ CT Scan เป็นการตรวจโดยใช้รังสีเอกซ์ฉายผ่านร่างกายในมุมต่างๆ เกิดเป็นภาพตัดขวาง มีความเร็วในการตรวจสูง
สามารถแสดงรายละเอียดของเลือดออกในสมองได้ดี รวมทั้งแสดงรายละเอียดของอวัยวะในช่องอกและรายละเอียดการบาดเจ็บของอวัยวะจากอุบัติเหตุได้ดี
รวมทั้งสามารถตรวจได้ทุกส่วนของร่างกาย แต่การตรวจอาจต้องมีการฉีดสารทึบรังสี (Contrast media) ร่วมด้วย เพื่อทำให้สามารถแยกขอบเขตรอยโรค และวินิจฉัยได้ถูกต้องแม่น ยำมากขึ้น


ส่วนตรวจที่สำคัญ?

- สมอง ตรวจความผิดปกติของสมองเบื้องต้น เช่น เนื้องอก สมองขาดเลือดเรื้อรัง การเจริญผิดปกติของเส้นเลือด (AVM) รวมทั้งตรวจหาภาวะเลือดออกในสมอง
การบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง สมองขาดเลือด (Stroke)
-  ปอด ตรวจความผิดปกติของปอด หรือพบความผิดปกติจากภาพเอกเรย์ปอด หรือมีความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งคัดกรองมะเร็งปอด
ได้ตั้งแต่ระยะต้น เช่น มีโครงสร้างเนื้อปอดที่ผิดปกติ หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งปอด
- หัวใจและหลอดเลือดหัวใจ ตรวจหาเส้นเลือดและหินปูนเกาะเส้นเลือด และภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือความผิดปกติอื่นๆ ของเส้นเลือดหัวใจ
- ช่องท้องระบบสืบพันธุ์ และระบบทางเดินปัสสาวะ เพื่อดูความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ภายในช่องท้อง อันได้แก่ ตับ ตับอ่อน ม้าม ถุงน้ำดีและทางเดินน้ำดี ลำไส้ ก้อนเนื้องอกหรือมะเร็งของอวัยวะอื่นๆ ภายในช่องท้อง


ตรวจอย่างไร .. ?
การนัดตรวจ CT Scan เจ้าหน้าที่จะแนะนำวิธีปฏิบัติก่อนการตรวจ เช่น งดอาหารก่อนตรวจอย่างน้อย 4 ชั่วโมง งดน้ำก่อนตรวจอย่างน้อย 2 ชั่วโมงเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดสารทึบรังสีที่อาจเกิดขึ้น เช่น คลื่นไส้อาเจียน หรือสำลักเศษอาหารเข้าสู่หลอดลม หรือผู้ที่ทำการตรวจส่วนของช่องท้องทั้งหมด (ส่วนบนและล่าง) จะได้รับสารทึบรังสีชนิดรับประทาน ผสมน้ำและน้ำหวานปริมาณ 1 ลิตร แบ่งรับประทานครั้งละ 1 แก้ว ทุกครึ่งชั่วโมง เป็นจำนวน 5 ครั้ง เป็นต้น
ทั้งนี้ รายละเอียดต่างๆ ของการเตรียมตัวก่อนตรวจ จะมีเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลสำหรับการตรวจในแต่ละส่วนของร่างกาย
เมื่อเข้าห้องและขึ้นนอนบนเตียงตรวจ จะมีเจ้าหน้าที่ดูแล และจัดท่าในการตรวจที่ถูกต้อง โดยในขณะตรวจต้องอยู่นิ่งๆ ห้ามขยับตัว เพราะจะทำให้ภาพที่ได้ไม่มีคุณภาพ และตำแหน่งที่ต้องการตรวจเปลี่ยนไป ซึ่งการตรวจซ้ำมีผลทำให้ผู้ป่วยได้รับรังสีมากขึ้นโดยไม่จำเป็น โดยการตรวจจะใช้เวลาประมาณ 5-15 นาที ขึ้นอยู่กับส่วนที่ตรวจ
บางกรณีอาจได้รับการฉีดสารทึบรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อช่วยประเมินชนิดของรอยโรคได้ถูกต้องมากขึ้น ผู้ป่วยอาจรู้สึกร้อนวูบวาบตามร่างกาย หรืออาจทำให้รู้สึกหน้ามืดขณะลุกขึ้นจากเตียงได้เนื่องจากสารทึบรังสีมีผลทำให้หลอดเลือดขยายตัว ซึ่งอาการนี้ไม่อันตรายและจะหายไปได้เอง แต่หากมีอาการผิดปกติ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นคัน หายใจขัด ใจสั่น ระดับความรู้สึกตัวลดลง ฯลฯ

ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที
หลังการตรวจในกรณีได้รับสารทึบรังสี ควรดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน โดยดื่มประมาณ 1-2 วัน เพื่อขับสารทึบรังสีออกทางปัสสาวะรวมทั้งผลการตรวจจะถูกแปลผลโดยรังสีแพทย์ ก่อนจะส่งผลการตรวจไปยังแพทย์ผู้ทำการรักษา ซึ่งเป็นผู้สั่งตรวจร่างกายหรืออวัยวะในแต่ละส่วน เพื่อนำผลที่ได้ประกอบการวินิจฉัยและเป็นแนวทางการรักษาต่อไป


ข้อมูลอ้างอิง : ห้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หน่วยรังสีวินิจฉัย ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Cr. Sriphat Medical Center

แกลลอรี่