มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขับเคลื่อนทุกมิติ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

28 ธันวาคม 2563

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินหน้าสู่ “มหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน” ตามแนวทาง SDGs ขององค์การสหประชาชาติ บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งเป้าหมายดำเนินงาน CMU BCG Platform ใน 3 ด้าน Medicopolis เมืองนวัตกรรมการแพทย์ Biopolis ศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจฐานชีวภาพ และ Creative Lanna ศูนย์รวมและผู้นำขององค์ความรู้ ศิลปวัฒนธรรมและการสร้างนวัตกรรมเพื่อดำรงจิตวิญญาณประจำถิ่น



ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ โดยองค์กรสหประชาชาติได้มีการตั้ง “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ให้เป็นแนวทางการพัฒนาของโลก เพื่อให้ประเทศต่างๆ นำไปปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จ เกิดการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในช่วงระยะเวลา 15 ปี ซึ่งมีผลตั้งแต่ปี 2558 ไปจนถึงปี 2573 ประกอบด้วย 17 เป้าหมายหลัก ได้แก่ 1.ขจัดความยากจน 2.ขจัดความหิวโหย 3.การส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี 4.การศึกษาที่เท่าเทียม 5. ความเท่าเทียมทางเพศ 6.การจัดการน้ำและสุขาภิบาล 7.พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ 8. การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ 9.อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน 10. ลดความเหลื่อมล้ำ 11. เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน 12.แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน 13.การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 14.การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล 15.การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก 16.สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก และ 17.ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน


สำหรับการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น ด้วยความภาคภูมิในการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่จัดตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2507 จากการเรียกร้องของสังคมที่ต้องการให้ขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษามาสู่ภูมิภาค ดังนั้นในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยจึงคำนึงถึงชุมชนและสังคมรอบด้านเป็นหัวใจสำคัญ โดยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป็นแนวทางหลัก เพื่อมุ่งเป็น “มหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน” พร้อมส่งมอบคุณค่าสู่สังคม ทั้งภายในประเทศและในระดับโลก ภายใต้ยุทธศาสตร์เชิงรุก 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน 2.นวัตกรรมด้านอาหารและสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ 3.ล้านนาสร้างสรรค์ ประกอบกับพันธกิจหลัก 4 ด้าน ได้แก่ การศึกษา การวิจัย การบริการวิชาการ และการบริหารจัดการ เชิงบูรณาการ โดยทั้งมหาวิทยาลัยได้ผนึกกำลังและองค์ความรู้ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยก้าวไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งนับเป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สอดรับกับนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของรัฐบาล


ในการขับเคลื่อนนโยบายบริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทาง SDGs ขององค์การสหประชาชาติ บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่าน SEP for SDGs by CMU BCG Platform ได้เชื่อมโยงยุทธศาสตร์เชิงรุกและพันธกิจของมหาวิทยาลัยกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs เป็น CMU BCG Platform ใน 3 ด้าน ได้แก่


Medicopolis เมืองนวัตกรรมการแพทย์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่ มุ่งสร้างสังคมสุขภาพดี ลดความเหลื่อมลํ้าเข้าถึงเทคโนโลยีและบริการ สร้างมูลค่า งานวิจัย นวัตกรรม พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วยนวัตกรรมการแพทย์ ตั้งเป้าสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 2,520 ล้านบาทในปี 2565 โดยจะดำเนินการผ่านศูนย์ต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เช่น ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ เฉลิมพระเกียรติ ศูนย์บริการสุขภาพและบริการสาธารณสุข (Medical Hub) ศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน (TTCM) ศูนย์ส่งเสริมพฤฒิพลังผู้สูงอายุ ศูนย์บริการทางการแพทย์หริภุญไชย จังหวัดลำพูน ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (GMC) ดูแลเฉพาะทาง ศูนย์สุขภาพสัตว์ดอยคำ และศูนย์การศึกษาวิจัยสุขภาพช้าง

   


Biopolis ศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจฐานชีวภาพ มุ่งสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 1,260 ล้านบาท ในปี 2565 ดำเนินการด้วยส่วนงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เช่น ศูนย์วิจัยสาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ ศูนย์วิจัยข้าวล้านนา ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลแบบครบวงจร อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


Creative Lanna ศูนย์รวมและผู้นำขององค์ความรู้ ศิลปะ วัฒนธรรมและการสร้างนวัตกรรมเพื่อดำรงจิตวิญญาณประจำถิ่น ที่มีการคาดหวังว่าจะช่วยสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 420 ล้านบาทในปี 2565 ผ่านการดำเนินงานของศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา โครงการศิลปะชุมชน: วัดศรีนวรัฐ (ทุ่งเสี้ยว) บ้านเหมืองกุงหัตกรรมล้านนา ศูนย์ออกแบบและพัฒนางานล้านนาสร้างสรรค์ (CLC) หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมและสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม

  

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยได้กำหนดแนวทางในการสร้างงานวิจัยและบริการวิชาการที่ก่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชั้น ภาคสังคม ภาคชุมชน เพื่อร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งระดับประเทศและระดับพื้นที่ รวมทั้งได้บรรจุการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้ SDGs ในทุกช่วงวัย พร้อมมุ่งมั่นในการเป็นกลไกสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สังคม ประเทศชาติ ด้วยการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานทุกภาค ทั้งระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไปสู่การปฏิบัติอย่างบูรณาการ เพื่อการบรรลุเป้าหมายอย่างยั่งยืนต่อไป


ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดทำเว็บไซต์เพื่อเป็นแหล่งรวมการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของมหาวิทยาลัย ดูรายละเอียดได้ที่ https://sdgs.cmu.ac.th


แกลลอรี่