ข้าวสายพันธุ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมข้าวไทย 4.0

15 พฤศจิกายน 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

ประเทศไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับต้นๆของโลกมาตลอด ในปี 2561 รั้งตำแหน่งที่ 2 รองจากประเทศอินเดีย แต่ที่ผ่านมาชาวนาไทยกลับถูกปล่อยให้ตกอยู่ในสภาพ “ปลูกข้าวนาปีมีแต่หนี้กับซัง ปลูกข้าวนาปรังมีแต่ซังกับหนี้”

เพื่อแก้ปัญหาผลผลิตต่ำของข้าวที่เกษตรกรเพาะปลูกและเพิ่มทางเลือกให้กับชาวนาไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้นสังกัดของนักวิจัย และศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ คณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ผู้สนับสนุนงบประมาณการวิจัยและพัฒนา ได้ร่วมกันส่งเสริมสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรี ผู้ริเริ่มโครงการทำนายุค 4.0 ที่ต้องการให้เกษตรกรมีรายได้อย่างต่ำ 10,000 บาท / ไร่ และมีตลาดรองรับที่แน่นอน ด้วยการส่งมอบข้าวสายพันธุ์ใหม่คุณภาพดี ผลผลิตสูง ที่พัฒนาสายพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ในข้าวด้วยลำไอออนพลังงานต่ำ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ของโลก ที่ใช้เวลากว่า 10 ปี คิดค้นพัฒนาขึ้นเองที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งด้านวิธีการและเครื่องมือ มีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่าวิธีการดั้งเดิมมาก

ตลอดปี 2562 สภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรีและวิสาหกิจชุมชนเกษตรห้วยไผ่เพื่อการผลิต จ. ราชบุรีโดยการให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้รวมประมาณ 50 ตัน เพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะส่งมอบให้กับชาวนาที่เป็นสมาชิกของโครงการไม่น้อยกว่า 1,000 ราย เพื่อเพาะปลูกในฤดูนาปรังและฤดูนาปี 2563 ในพื้นที่ประมาณ 5,000 ไร่ โดยชาวนาสมาชิกสามารถเลือกปลูกได้ 3 พันธุ์ที่มีความต้องการของตลาดที่แน่นอน โดยข้าวทั้ง 3 พันธุ์มีจุดเด่นดังต่อไปนี้

1) ข้าวหอมเพื่อการบริโภค (มช 10-1 หรือ FRK-1): เป็นข้าวเจ้าหอมพื้นอ่อน ไวต่อช่วงแสง มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 124 วัน (โดยวิธีปักดำ) ค่อนข้างต้านทานโรคใบไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มีคุณสมบัติเหมาะสำหรับการบริโภค มีการยอมรับของผู้บริโภคใกล้เคียงกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในแง่ของสี, รสชาติ และเนื้อสัมผัส แต่จะนุ่มและคงสภาพความนุ่มนานกว่าแม้เมื่อเก็บไว้จนเย็นแล้ว และยังมีระดับสารหอม 2AP สูงถึง 6.55 ppm สูงกว่าระดับสารหอม 4.74 ppm ของข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่แปลงปลูก จ. ราชบุรี ฤดูนาปี 2561 และที่สำคัญมีผลผลิตเกี่ยวสดเฉลี่ย 2.13 ตัน/ ไร่ สูงกว่าข้าวขาวดอกมะลิพันธุ์ดั้งเดิมที่ให้ผลผลิตเกี่ยวสดเฉลี่ย 0.5 ตัน / ไร่ เมื่อปลูกคู่กัน (แปลงปลูก จ. ราชบุรี ฤดูนาปี 2561) ดังนั้นจะทำให้ชาวนามีกำไรแน่นอนเมื่อหักต้นทุนประมาณ 5,000 บาท / ไร่ออกแล้ว

2) ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมแป้ง (เทพ 10-5 หรือ MSY-4): เป็นข้าวเจ้าหอมอ่อนพื้นแข็ง ไม่ไวต่อช่วงแสง มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 122 วัน ค่อนข้างต้านทานโรคใบไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มีสารหอม 2AP ระดับ 0.79 ppm ผลผลิตเกี่ยวสด 1.54 ตัน / ไร่ (ข้าวปทุมธานี 1 ได้ผลผลิตเกี่ยวสด 0.99 ตัน / ไร่) ในแปลงปลูกที่ จ. ราชบุรี ฤดูนาปรัง 2562 เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมแป้งและการแปรรูปเป็นเส้นขนมจีน

3) ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ (เทพ 10-7 หรือ OSSY-23): เป็นข้าวเจ้าพื้นแข็ง ไม่ไวต่อช่วงแสง มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 122 วัน ค่อนข้างต้านทานโรคใบไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มีปริมาณโปรตีน 10.3% มีปริมาณไขมัน 3.6% ผลผลิตเกี่ยวสด 1.540 ตัน / ไร่ เหมาะที่จะนำไปเป็นอาหารสัตว์ เช่นหมู ที่ต้องการอาหาร 2.2 กิโลกรัม / วัน / ตัว

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ และสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรี พร้อมด้วยวิสาหกิจชุมชนเกษตรห้วยไผ่เพื่อการผลิต จ.ราชบุรี ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการส่งเสริมความสามารถในการปรับตัวของชาวนาไทย ได้ใช้เทคโนโลยีลำไอออนดังกล่าว พัฒนาข้าวอีกหลายสายพันธุ์ใหม่ ที่พบว่าน่าสนใจมากขณะนี้ก็คือ

ก) ข้าวญี่ปุ่นก่ำ (AKM-P-22) สำหรับการบริโภคเพื่อสุขภาพ: เป็นข้าวกล้องสีก่ำทั้งเมล็ด กาบใบสีม่วง ผลผลิต 600-800 กก. / ไร่ คุณภาพหุงต้มรับประทานดี มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีตลาดอาหารญี่ปุ่นรับซื้อแน่นอน

ข) ข้าวญี่ปุ่น (AKM-6-1) สำหรับการบริโภคทั่วไป: ผลผลิต 900 - 1,180 กก. / ไร่ มีปริมาณอมิโลส 20.6 % คุณภาพหุงต้มรับประทานดี ใกล้เคียงกับพันธุ์ดั้งเดิม กวก.2

ในขณะที่พันธุ์ดั้งเดิม กวก.2 ให้ผลผลิตต่ำเพียง 304 - 584 กก. / ไร่ เมื่อแน่ใจว่าข้าวญี่ปุ่นสายพันธุ์ใหม่ทั้งสองเสถียรตามมาตรฐานแล้วจะได้นำไปส่งเสริมแก่ชาวนา เพื่อจะมีตัวเลือกมากขึ้นต่อไป


รูปที่ 1 ข้าว มช 10-1 (FRK-1) ในแปลงนาที่ จ. ราชบุรี (ถ่ายเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561)


รูปที่ 2 ข้าวเทพ 10-5 (MSY-4) ในแปลงนาที่ จ. ราชบุรี (ถ่ายเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562)


รูปที่ 3 ข้าวเทพ 10-7 (OSSY-23) ในแปลงนาที่ จ. ราชบุรี (ถ่ายเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562)


รูปที่ 4 ข้าวญี่ปุ่นก่ำ (AKM (P)-22) ในแปลงนาที่ จ. เชียงใหม่ (ถ่ายเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562)


รูปที่ 5 ข้าวญี่ปุ่น (AKM-6-1) ในแปลงนาที่ จ. เชียงใหม่ (ถ่ายเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2562)

รูปที่ 6 แผนภาพสรุปขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ข้าวด้วยเทคโนโลยีลำไอออนพลังงานต่ำที่คิดค้นขึ้นเอง โดยยกตัวอย่างจากการตั้งต้นด้วยข้าวสังข์หยดพัทลุง โดยจุดเด่นของเทคโนโลยีนี้มี 4 ประการดังนี้ 1) ยั่งยืน (คนไทยทั้งคิดค้นและสร้างเครื่องมือขึ้นเอง), 2) มีประสิทธิภาพสูง (การอาบไอออนเพียง 1 ครั้ง ได้ข้าวสายพันธุ์ดีจำนวนมาก, 3) ใช้เวลาสั้น (ทั้งในการอาบไอออนและในการได้สายพันธุ์ใหม่ที่เสถียรด้วยเวลาเพียง 2-3 ปี) และ 4) ปลอดภัย (ไม่ใช่ GMO และไม่เกิดรังสีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ติดตั้งเครื่องในห้องปกติได้)

รูปที่ 7 เครื่องยิงไอออนขนาดกะทัดรัดเพื่อการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเครื่องแรกและเครื่องเดียวของประเทศไทยที่สร้างขึ้นเองที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยนักฟิสิกส์ไทย

ข้อมูลโดย : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
แกลลอรี่