คณะสาธารณสุขศาสตร์ จัดประชุมชี้แจงการบริหารจัดการโครงการย่อยภายใต้แผนพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และน่าน

11 ตุลาคม 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

คณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้จัดการประชุมทีมวิจัยของโครงการย่อยจำนวน 23 โครงการ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานระบบบริการสุขภาพ ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ โรงแรมไอบิส จังหวัดเขียงใหม่ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ 2562 ที่ผ่านมา โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ในฐานะประธานบริหารแผนงานฯ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยได้รับการอนุมัติให้พัฒนาชุดโครงการวิจัยและพัฒนาภายใต้แผนงานระบบบริการสุขภาพ ในหัวเรื่อง “โครงการพัฒนาระบบบริการเพื่อการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร (พบฉ.)” โดยได้เลือกพื้นที่วิจัยนำร่องในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และน่าน ทั้งนี้ได้รับการจัดสรรงบวิจัยสนับสนุนจากทาง วช. ให้แก่คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2562-2564 โดยมีทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ คณะการสื่อสารมวลชน สถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี และทีมวิจัยจากโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เชียงรายและน่าน กว่า 10 แห่ง จำนวน 60 คน เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

ชุดโครงการ “การพัฒนาระบบบริการเพื่อการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร (พบฉ.) หรือ Smart Emergency Care Services Integration (SECSI)” เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบเครือข่ายการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งการเสียชีวิตและเกิดความพิการอย่างรุนแรง โดยขอบเขตการวิจัยจะครอบคลุมทั้งในด้านการป้องกันภาวะเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุฉุกเฉิน ความรอบรู้ด้านสุขภาพเกี่ยวกับการช่วยเหลือเบื้องต้นในภาวะฉุกเฉินสำหรับประชาชน การโทรแจ้งเหตุฉุกเฉิน 1669 เพื่อขอรถฉุกเฉินนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง การพัฒนาคุณภาพระบบบริการของห้องแพทย์ฉุกเฉิน หรือ ER ของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน และการส่งต่อให้กับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินที่เกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข การพัฒนาระบบเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยฉุกเฉินระหว่างโรงพยาบาลแบบไร้รอยต่อ การจัดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อพัฒนาระบบเครือข่ายบริการการแพทย์ฉุกเฉินอย่างมีคุณภาพของจังหวัดเชียงใหม่ที่ถือเป็นโครงการวิจัยนำร่องระดับประเทศ รวมถึงการพัฒนาระบบนำส่งผู้ป่วยหลังพ้นภาวะฉุกเฉินกลับสู่โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านและชุมชนให้สามารถดูแลต่อเนื่องได้อย่างมีคุณภาพ เพื่อลดโอกาสในการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน การลดภาวะความพิการอย่างถาวร ความสามารถในการช่วยเหลือพึ่งพาตนเอง และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยต่อไป


(รายละเอียดโครงการ : https://www.thesecsi.net และ https://www.facebook.com/secsi1669/)

แกลลอรี่