คณะวิศวกรรมศาสตร์ จับมือคณะบริหารธุรกิจ มช. บูรณาการวิชาการด้านการเงินและวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ บริษัทจัดการหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ฯ หนุนองค์ความรู้ข้ามสาขา มุ่งสร้างนักเทคโนโลยีการเงินรับยุค disruptive

6 มิถุนายน 2562

คณะบริหารธุรกิจ

คณะบริหารธุรกิจ ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด จัดโครงการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเงินและวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (CMU-SCBAM Machine Learning : Application for Smart Investment) สร้างโอกาสเรียนรู้ในสภาพการปฏิบัติงานจริง เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงฉับพลันในบริบทการเงินโลก

รองศาสตราจารย์ ดร.อาวรณ์ โอภาสพัฒนกิจ รองอธิการบดีด้านบริการวิชาการและรับใช้สังคม ประธานในพิธี กล่าวถึงวัตถุประสงค์การดำเนินงานว่า “โครงการนี้จัดการเรียนรู้แบบ project based learning บูรณาการองค์ความรู้ด้านการเงินเข้ากับความรู้ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ถือเป็นความสอดคล้อง กับหลักการสร้างทักษะแก่ผู้เรียนเพื่อสามารถตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมปัจจุบัน”

การจัดการความร่วมมือในโครงการได้แก่ ภาควิชาการเงินและการธนาคาร คณะบริหารธุรกิจ มีบทบาทเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านการเงินการธนาคาร ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์มีบทบาทความร่วมมือด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด มีบทบาทในการวิเคราะห์
การลงทุน สนับสนุนข้อมูลและความเชี่ยวชาญในเชิงวิชาชีพ

รองศาสตราจารย์ ดร.สิริวุฒิ บูรณพิร คณบดีคณะบริหารธุรกิจ กล่าวถึงการดำเนินโครงการในครั้งนี้ว่า “พัฒนาการแบบเปลี่ยนแปลงฉับพลัน หรือที่เราเรียกว่า disruptive ส่งผลชัดเจนต่อวงการธุรกิจ สิ่งสำคัญคือการปรับตัว ขยายองค์ความรู้สู่ขอบเขตใหม่ๆ ที่จะเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน ความท้าทายของคณะฯ คือการสร้างบุคลากรที่มีทักษะในเชิงบูรณาการเทคโนโลยีสู่การทำงานปกติ”

ด้านผู้ช่วยศาสาสตราจารย์ ดร.ณัฐ วรยศ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้รับบทบาทจัดการความร่วมมือทางเทคโนโลยีกล่าวว่า “คณะวิศวกรรมศาสตร์มีแนวทางในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยมีการดำเนินงานเกี่ยวข้อง สนับสนุนวิชาการข้ามสาขาอย่างต่อเนื่อง ในครั้งนี้ ความรู้ทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยี Machine Learning และ Big Data จะเป็นเครื่องมือหลักที่คณะทำงานจะร่วมกันใช้เพื่อบ่มเพาะนักการเงินและวิศวกรคอมพิวเตอร์ในโครงการ”

การดำเนินโครงการพัฒนาองค์ความรู้ฯ ในขั้นแรกได้แก่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Machine Learning ในการพัฒนาดัชนีชี้วัดความยั่งยืน (ESG Index) ครอบคลุม ดัชนีที่มีมิติวัดสามประเด็นหลักของความยั่งยืน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environment Social และ Governance)

“ประเด็นด้านความยั่งยืนทางธุรกิจได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นทั้งจากบริษัทและนักลงทุนเนื่องจากมีความสำคัญต่อการวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่ต้องการข้อมูลเชิงคุณภาพที่ลึกมากกว่าตัวเลขผลประกอบการในงบการเงิน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ฯ มีความยินดีที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ และเชื่อว่าผลการดำเนินโครงการนี้จะสร้างดัชนีวัดความยั่งยืนของธุรกิจที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการการเงินและการบริหาร การลงทุน อีกประการที่สำคัญคือ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างไทยพาณิชย์ และ มช. นี้นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาบุคลลากรในสายงานนี้และเชื่อมั่นว่า มช.จะเป็นสถาบันการศึกษาที่ล้ำหน้าของประเทศในสายงานการเงิน” นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าว

ผู้สนใจโครงการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเงินและวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ฯ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวและข้อมูลโครงการได้ทาง http://www.ba.cmu.ac.th หรือสอบถามโดยตรงได้ที่ภาควิชาการเงินและการธนาคาร
คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร 053 942126-7
แกลลอรี่