คอลลาเจนรูปแบบเคี้ยว นวัตกรรมใหม่จากนักวิจัย มช.

24 ธันวาคม 2561

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

คอลลาเจนรูปแบบเคี้ยว นวัตกรรมใหม่ผลงานวิจัยอาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์และอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมสร้างนวัตกรรมคอลลาเจนไดเปปไทด์แบบเคี้ยวจากเสาวรส เพิ่มอาหารผิวจากภายในสู่ภายนอก รสอร่อย เคี้ยวสนุก พกพาสะดวก ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด สนับสนุนเกษตรผู้ปลูกเสาวรสของจังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งผลงานวิจัยที่นำไปสู่นวัตกรรมและต่อยอดธุรกิจในเชิงพาณิชย์


ปัจจุบันมีการบริโภคคอลลาเจนอย่างแพร่หลายโดยที่พบในท้องตลาดเป็นคอลลาเจนเปปไทด์ที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ประมาณ 2,000 ดาลตัน ซึ่งร่างกายมีความจำเป็นต้องย่อยในทางเดินอาหารให้เป็นเปปไทด์สายสั้น ๆ ที่มีขนาดโมเลกุล ไม่เกิน 1,000 ดาลตัน จึงจะสามารถดูดซึมผ่านทางเดินอาหารได้ จากนั้นเปปไทด์เหล่านี้ยังต้องถูกลำเลียงไปผ่านกระบวนการทำลายสิ่งแปลกปลอมที่ตับ ทำให้เหลือคอลลาเจนเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้จริง และถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนาคอลลาเจนไตรเปปไทด์ที่มีขนาดโมเลกุลเล็กประมาณ 300 - 400 ดาลตัน ซึ่งสามารถดูดซึมผ่านทางเดินอาหารได้ทันที แต่ก็ยังต้องผ่านกระบวนการทำลายสิ่งแปลกปลอมที่ตับเช่นกัน ทำให้ต้องรับประทานคอลลาเจนในปริมาณสูง แต่ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น อีกทั้งคอลลาเจนที่มีกลิ่นคาวและรสชาติไม่พึงประสงค์ต่อการรับประทาน จึงต้องกลบกลิ่นคาวโดยการผสมกลิ่นและรสสังเคราะห์ เทคโนโลยี “การผลิตผลิตภัณฑ์คอลลาเจนไดเปปไทด์รูปแบบเคี้ยว” เป็นผลงานภายใต้โครงการวิจัย Innovation Hub-Agriculture & Food เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกร สุพัฒน์ จิรานุสรณ์กุล คณะเภสัชศาสตร์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุจินดา ศรีวัฒนะ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ บริษัท ตะวันพันดารา จำกัด คิดค้นและพัฒนา “ผลิตภัณฑ์คอลลาเจนไดเปปไทด์รูปแบบเคี้ยว” ซึ่งเป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์คอลลาเจนที่สามารถเคี้ยวรับประทานและดูดซึมผ่านกระพุ้งแก้มได้ทันทีอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มโปรตีนซึ่งเป็นสารอาหารให้แก่ผิวจากภายในสู่ภายนอก ปราศจากน้ำตาล รสอร่อย เคี้ยวสนุก พกพาสะดวก โดยใช้ “คอลลาเจนไดเปปไทด์” ที่มีโมเลกุลขนาดเล็กไม่เกิน 300 ดาลตัน และมีคู่กรดอะมิโนจำเป็นต่อการสร้างคอลลาเจนในปริมาณสูง รวมถึงการแก้ไขปัญหากลิ่นคาวและรสชาติไม่พึงประสงค์ของคอลลาเจนด้วยเทคโนโลยีในการนำกลิ่นและรสธรรมชาติจากเสาวรสเพื่อแก้ไขปัญหานี้ และยังเป็นการสนับสนุนผลผลิตทางการเกษตรของชาวสวนจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นรูปแบบเคี้ยว โดยคำนึงถึงการใช้สารให้ความหวานธรรมชาติที่ให้พลังงานต่ำ เพื่อให้เป็นสูตรปราศจากน้ำตาล อีกทั้งยังมีข้อดีในการช่วยลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดฟันผุอีกด้วย


เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมพระยาศรีวิสารวาจา สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นางสาวแสงตะวัน ณ เชียงใหม่ กรรมการผู้จัดการบริษัท ตะวันพันดารา จำกัด ร่วมลงนามในพิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยี “การผลิตผลิตภัณฑ์คอลลาเจนไดเปปไทด์รูปแบบเคี้ยว” ระหว่าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ บริษัท ตะวันพันดารา จำกัด ภายใต้ความร่วมมือของคณะเภสัชศาสตร์และคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการสร้างผลิตภัณฑ์ ฟินด์ แอนด์ เฟิร์ม ออรา บูสเตอร์ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการนำผลงานการคิดค้นและพัฒนางานวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดรายได้และผลประโยชน์ตอบแทนมายังมหาวิทยาลัย ผู้วิจัย และสิ่งสำคัญคือช่วยเพิ่มการสร้างงานและอาชีพ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคม ส่งผลให้นักวิจัยเกิดขวัญและกำลังใจในการพัฒนาผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของการทำงานในรูปแบบสหสาขาวิชา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด อีกทั้งเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังภาคเอกชน เพื่อนำผลิตภัณฑ์ต่อยอดไปสู่ผู้บริโภคในวงกว้างต่อไป 

แกลลอรี่