เริ่มแล้ว ! นักวิจัย มช. กับภารกิจ ไอซ์คิวบ์อัปเกรด (IceCube Upgrade) และโครงการช้างแวน ณ ขั้วโลกใต้ มุ่งพัฒนาความรู้คนไทยไปสู่ระดับโลก

30 มกราคม 2567

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

        อาจารย์ เรือโท ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดม นักวิจัย มช. คนไทยคนแรกที่ได้รับเลือกไปปฏิบัติงานในพื้นที่ ใจกลางขั้วโลก ทวีปแอนตาร์กติกา ได้เริ่มปฏิบัติภารกิจร่วมกับวิศวกรจากนานาชาติในการเจาะน้ำแข็งเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดนิวทริโนใต้แผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกใต้ โดยจะใช้เวลาปฏิบัติงาน ณ ขั้วโลกใต้ประมาณ 2 เดือน ร่วมกับกลุ่มวิจัยนิวทริโนไอซ์คิวบ์ กลุ่มวิจัยชั้นนำของโลก มีนักวิจัยรวมกว่า 350 คน จาก 14 ประเทศ 58 สถาบัน เพื่อทำพันธกิจในโครงการไอซ์คิวบ์อัปเกรด (IceCube Upgrade) เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจจับนิวทริโนพลังงานต่ำที่เข้ามายังโลก นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยที่เราได้มีตัวแทนและเป็นนักวิจัยไทยคนแรกของประเทศไทยที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปปฏิบัติภารกิจเชิงวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ ตามความร่วมมือนิวทริโนไอซ์คิวบ์และการสำรวจตัดข้ามละติจูดภายใต้พระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี + ภารกิจที่กำลังดำเนินการอยู่

        สถานีตรวจวัดนิวทริโนไอซ์คิวบ์ถูกสร้างไว้เพื่อศึกษาอนุภาคนิวทริโนที่เข้ามายังโลกโดยใช้เครื่องตรวจวัดที่เรียกว่า Digital Optical Module หรือเรียกสั้น ๆ ว่า 'DOM' ที่ใช้ในการตรวจจับนิวทริโนผ่านรังสีเชอเรนคอฟ โดยโครงการวิจัยของมช. นี้ ได้เข้าร่วมกับไอซ์คิวบ์ ซึ่งเป็นโครงการเชิงเทคนิคทางวิศวกรรมที่เรียกว่า โครงการไอซ์คิวบ์อัปเกรด (IceCube Upgrade) เป็นการวางแผนจะเพิ่มเส้นลวดตรงบริเวณแกนกลางของสถานีตรวจวัดนิวทริโนไอซ์คิวบ์อีก 7 เส้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจจับนิวทริโนพลังงานต่ำ

        สถานีตรวจวัดนิวทริโนไอซ์คิวบ์ ตั้งอยู่ ณ บริเวณขั้วโลกใต้ใจกลางทวีปแอนตาร์กติกา ลึกเข้าไปจากขอบทวีปกว่า 1,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นจุดที่มีละติจูด 90 องศาใต้ มีความสูงประมาณ 2,835 เมตร จากระดับน้ำทะเล (สูงกว่ายอดดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ราว ๆ 300 เมตร) การเดินทางเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวหากมิใช่เพื่อการศึกษาวิจัยแล้ว แทบจะไม่สามารถเข้าไปได้เลย เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและมีความหนาวเย็นถึง -28 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูร้อน และต่ำถึง -60 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูหนาว การเดินทางจึงต้องใช้เครื่องบินของกองทัพอากาศสหรัฐที่ดัดแปลงพิเศษในการเข้าพื้นที่ และมีเวลาปฏิบัติงานเพียงประมาณ 4 เดือน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงกุมภาพันธ์ ในช่วงฤดูร้อนของขั้วโลกใต้เท่านั้น

         ในปี พ.ศ.2566 ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการส่งนักวิจัยไทยร่วมเดินทางไปปฏิบัติงานในพื้นที่ขั้วโลก ณ ทวีปแอนตาร์กติกา จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ เรือโท ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดม อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้เดินทางถึงหอสังเกตการณ์นิวทริโนไอซ์คิวป์ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 และได้เริ่มปฏิบัติภารกิจร่วมกับวิศวกรจากนานาชาติในการเจาะน้ำแข็งเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดนิวทริโนใต้แผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกใต้ โดยจะใช้เวลาปฏิบัติงาน ณ ขั้วโลกใต้ประมาณ 2 เดือน

         และนางสาวอัจฉราภรณ์ ผักหวาน นักวิจัย กลุ่มวิจัยรังสีคอสมิกและอนุภาคพลังงานสูง มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ร่วมเดินทางกับคณะวิจัยของสถาบันวิจัยขั้วโลกเกาหลีเมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยเครื่องตรวจวัดอนุภาคนิวตรอนแบบเคลื่อนที่ “ช้างแวน” ได้ติดตั้ง และเริ่มตรวจวัดอนุภาคนิวตรอนบนเรือตัดน้ำแข็งเอราออนของสาธารณรัฐเกาหลี ออกเดินทางไปยังทวีปแอนตาร์ โดยโครงการนี้ได้รับอนุมัติจากสถาบันวิจัยขั้วโลกเกาหลีให้นำเครื่องตรวจวัดอนุภาคนิวตรอนแบบเคลื่อนที่ มีชื่อเรียกว่า "ช้างแวน" (ChangVan) บรรทุกไปกับเรือตัดน้ำแข็ง "เอราออน" (RV Araon) เดินทางไปเก็บข้อมูลวิจัย ณ ทวีปแอนตาร์กติกา เพื่อศึกษาอัตราการเปลี่ยนแปลงของรังสีคอสมิกในระดับละติจูดต่างๆ ตามเส้นทางจากประเทศนิวซีแลนด์ เขตวิจัยทางทะเลอามันด์เซน (Amundsen Sea Research Area) สถานีวิจัยจางโบโก (Jang Bogo Station) และสิ้นสุดการเดินทาง ณ เมืองกวางยาง สาธารณรัฐเกาหลี

         การเดินทางไปปฏิบัติงาน ณ ทวีปแอนตาร์กติกาของ 2 นักวิจัยไทยในครั้งนี้จะนำมาสู่การพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศ อาทิ เทคโนโลยีการปฏิบัติงานในพื้นที่สุดขั้ว (Extreme Condition Operation) เทคโนโลยีการขุดเจาะด้วยของไหล (Fluid-Assisted Boring) การศึกษารังสีคอสมิกเพื่อการพยากรณ์สภาวะอาวกาศ (Space Weather Forecasting) การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวัฎจักรของจุดบนดวงอาทิตย์กับการแผ่รังสีคอสมิกที่เป็นอันตรายต่อโลก นอกจากองค์ความรู้ที่ได้แล้วโครงการดังกล่าวยังเป็นการพัฒนาและเตรียมความพร้อมกำลังคนของประเทศในการก้าวเข้าสู่วิทยาการขั้นสูงเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศต่อไป



แกลลอรี่