มช. ใช้เทคโนโลยีปรากฏการณ์แสง ต่อยอดองค์เจดีย์หลวง นำปัจจุบันกลับไปยังอดีตที่ไม่มีใครเคยเห็น

14 กันยายน 2565

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

          ยิ่งใหญ่ตระการตา “ต่อยอด แสงหลวง” มหาวิทยาลัยชียงใหม่ใช้เทคโนโลยีปรากฏการณ์แสง นำปัจจุบันกลับไปยังอดีต เพื่อต่อยอดองค์เจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ ที่ไม่มีใครเคยเห็นเกือบ 500 ปี ด้วยแสงเลเซอร์ (Lost and Found” the Missing Moment Experience).

          การทดลองนวัตกรรมแสงกับองค์เจดีย์หลวง ที่ทำให้ศาสนาและเทโนโลยีมาเจอกัน จนเกิดเป็นความงามที่ล้ำสมัย ด้วยการฉายแสงเลเซอร์เติมไปในบริเวณส่วนยอดขององค์เจดีย์หลวงที่หายไป โดยเป็นการใช้ปรากฏการณ์แสงเติมรูปทรงและสัดส่วนความสูงให้กับองค์เจดีย์หลวง ด้วยเทคนิคการฉายอุโมงค์แสงให้เกิดเป็นเส้นรอบรูปไปที่องค์เจดีย์ เพื่อแสดงสัดส่วนและความสูงของเจดีย์ที่สมบูรณ์ จนทำให้คนเชียงใหม่มีโอกาสได้ย้อนไปสัมผัสความสง่างามขององค์เจดีย์หลวงในอดีต หลังจากที่ไม่มีใครเคยเห็นมาเกือบ 500 ปี

         สำหรับพระธาตุเจดีย์หลวงเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในภาคเหนือ เดิมมีความสูงประมาณ 70 เมตร (จากการอ้างอิงรูปทรงกับความสูง จากการศึกษาเทียบเคียงหลักฐาน ตำนาน และข้อสันนิษฐานจากนักวิชาการ และนักประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมล้านนา) ฐานเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณด้านละ 60 เมตร สร้างขึ้น ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ในสมัยพญาแสนเมืองมา กระทั่งเมื่อ 477 ปีที่แล้วเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทำให้ส่วนยอดของเจดีย์หัก เหลือความสูงเพียง 40 เมตร  และจุดเริ่มต้นของการทดลองนี้ เกิดขึ้นจากคำถามสำคัญว่า เราจะสามารถปลุกโบราณสถาน ให้ตื่นและมีชีพจรในจังหวะเดียวกับสังคมร่วมสมัยได้อย่างไร จึงค้นหาวิธีการสร้างประสบการณ์ใหม่ที่เร้าความรู้สึกด้วยปรากฎการณ์แสง ด้วยความคาดหวังว่าปรากฏการณ์นี้อาจจะสามารถกระตุ้นให้ผู้คน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้เกิดความสนใจและเริ่มหันมาสร้างบทสนทนาด้วยภาษาใหม่กับโบราณสถาน และงานชิ้นนี้อาจเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการเลือกใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ อาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถที่ช่วยปลุกชีวิตให้มรดกทางวัฒนธรรมอื่นๆ สามารถเดินไปพร้อมกับจังหวะของโลกร่วมสมัยได้

         สำหรับเทคนิคที่ใช้ เป็นการฉายแสงเลเซอร์เติมไปในบริเวณส่วนยอดขององค์เจดีย์หลวงที่หายไป โดยเป็นการใช้ปรากฏการณ์แสงเติม รูปทรงและสัดส่วนความสูงให้กับองค์เจดีย์หลวง ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า “Projection” หรือ “ภาพฉาย” สร้างอุโมงค์แสงเสมือน (Space) ซ้อนทับลงไปกับองค์เจดีย์ ทำให้เกิดเป็นเส้นรอบรูปไปที่องค์เจดีย์ เพื่อแสดงสัดส่วนและความสูงของเจดีย์ที่สมบูรณ์ ส่งผลทำให้ชาวเชียงใหม่รวมถึงนักท่องเที่ยว ได้มีโอกาสได้ย้อนไปสัมผัสความสง่างามขององค์เจดีย์หลวงในอดีต หลังจากที่ไม่มีใครเคยเห็นมาเกือบ 500 ปี

        "ต่อยอด แสงหลวง" จัดโดยศูนย์วิจัยและบริการวิชาการสถาปัตยกรรม และศูนย์นวัตกรรมล้านนาสร้างสรรค์ (CLIC) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยมีศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี และล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลอดจนวัดเจดีย์หลวงวรวิหารเชียงใหม่ ร่วมขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมและพัฒนาการขยายผลธุรกิจนวัตกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ Awaken KHUM for Innovative and Creative Economy (KHUM)

        มช. ขอเชิญร่วมชมความยิ่งใหญ่ตระการตา “ต่อยอด แสงหลวง” จัดแสดงทุกวันอาทิตย์ เวลา 20.00 - 22.00 น. ณ วัดเจดีย์หลวงวรมหาวิหาร จัดแสดงไปจนถึงวันที่ 25 กันยายน 2565

แกลลอรี่