มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ ประจำปี 2563 Thailand Quality Class : TQC 2020

19 มีนาคม 2564

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ ประจำปี 2563 Thailand Quality Class : TQC 2020 จากสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ารับรางวัลจาก นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานในพิธีมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดในการบริหารจัดการองค์กรที่เป็นเลิศ ทัดเทียมระดับมาตรฐานโลก (World Class) หรือในระบบการศึกษาเรียกว่าเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) มาใช้เป็นเครื่องมือในการยกระดับการดำเนินการและพัฒนาการในด้านต่างๆ ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย และระดับส่วนงาน ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีปฏิบัติที่ดีระหว่างส่วนงานต่างๆ ส่งผลให้องค์กรเกิดการบูรณาการกระบวนการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ มีผลลัพธ์การดำเนินการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ทำให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในครั้งนี้ประกอบด้วย
Leadership ความมุ่งมั่นของผู้นำระดับสูงในการพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตามปณิธานอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ท้องถิ่นภาคเหนือและประเทศชาติ โดยมหาวิทยาลัยนำเกณฑ์ TQA หรือในระบบการศึกษา เรียกว่า เกณฑ์ EdPEx มาใช้เพื่อปรับปรุงความสามารถในการบริหารจัดการทุกเรื่องที่จะส่งผลให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพ โดยได้รับการสนับสนุนและผลักดันในเชิงนโยบายจากสภามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย นายกสภามหาวิทยาลัย และศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อาวุธ ศรีศุกรี อุปนายกสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มผลักดันให้นำเกณฑ์ TQA/EdPEx มาใช้ในวงการศึกษา รวมถึง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ ตุวานนท์ และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้เริ่มนำแนวคิดของเกณฑ์ TQA มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนากระบวนการทำงานในด้านต่างๆ และดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
Engagement ความผูกพันของคนในองค์กร และวัฒนธรรมองค์กร “ร่วมด้วย ช่วยกัน” ของผู้บริหารและบุคลากรจากทุกส่วนงาน
Attitude การสร้างทัศนคติที่ดีให้แก่บุคลากรทุกระดับในการเรียนรู้ พัฒนาและปรับปรุงคุณภาพในการทำงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องตามแนวทางของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ เพื่อพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ
Deployment การถ่ายทอดนโยบาย เป้าหมายของมหาวิทยาลัยไปสู่การปฏิบัติที่ครอบคลุมทุกส่วนงาน เพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปด้วยกัน
ทั้งนี้ หลังจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติมาใช้อย่างต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยมีการปรับปรุงที่สำคัญ คือ การกำหนดทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน การสื่อสารและสร้างความผูกพันกับบุคลากรเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน จัดทำแผนกลยุทธ์ที่ตอบสนองต่อเป้าหมายและความต้องการของลูกค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม และถ่ายทอดกลยุทธ์สู่การปฏิบัติในแต่ละระดับเพื่อให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน ซึ่งความสำเร็จที่สำคัญของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากการบรรลุความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว สิ่งสำคัญคือ คุณค่าที่เกิดขึ้นกับสังคมและชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำประโยชน์ให้กับสังคมและชุมชนในภาคเหนือซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการก่อตั้งมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในครั้งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันว่ามหาวิทยาลัยมีแนวทางการบริหารจัดการที่เป็นระบบเพื่อนำองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศ และยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาองค์กรอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อสร้างประโยชน์ให้ทุกภาคส่วน สังคม ชุมชน และประเทศชาติ.

แกลลอรี่