ศูนย์วิจัยช้างฯ มช. ตรวจการเข้ากันได้ของเลือด พร้อมเก็บพลาสม่าช้างแช่แข็งครั้งแรกของไทย

22 สิงหาคม 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

นักวิจัย มช. ประสบความสำเร็จตรวจการเข้ากันได้ของเลือดและถ่ายพลาสม่าในช้างครั้งแรกของประเทศไทย พบว่าสามารถเก็บพลาสม่าช้างแช่แข็งได้นาน 1 ปี ยังคงประสิทธิภาพในการรักษาได้เพื่อใช้รักษาช้างยามฉุกเฉิน


รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม และ อาจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.ภัคนุช บันสิทธิ์ จากศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ ร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร. ปรียานาถ วงศ์จันทร์ ภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันคชบาลแห่งชาติ สมาคมสหพันธ์ช้างไทย และ ปางช้างในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการถ่ายพลาสม่าซึ่งเป็นองค์ประกอบของเลือดที่ประกอบไปด้วยโปรตีนและภูมิคุ้มกันต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของสัตว์ โดยเริ่มต้นจากงานวิจัยการตรวจสอบความเข้ากันได้ของเลือดในช้างเอเชีย และการพัฒนา Rabbit ant-elephant immunoglobulin G ที่ช่วยในการตรวจสอบความเข้ากันได้เลือดให้ชัดเจนมากขึ้น ผลการทดสอบพบว่ามีช้างหลายเชือกที่พบปัญหาการเข้ากันไม่ได้ของเลือดซึ่งถ้าต้องมีการถ่ายเลือด และพลาสม่าจะทำให้เกิดปัญหาตามมา ทำให้ต้องมีการวางแผนและระวังกันมากขึ้น


เนื่องจากการทำงานกับช้างต้องออกพื้นที่ที่ห่างไกล ทำให้ไม่สามารถเก็บพลาสม่าของช้างได้ทันท่วงที รวมทั้งช้างที่ป่วยด้วยความผิดปกติบางอย่าง เช่น การติดเชื้อโรคไวรัสเฮอร์ปีส์ในลูกช้าง ซึ่งมีความรุนแรงสูง ทำให้ลูกช้างเสียชีวิต ภายในเวลา 24-48 ชั่วโมงหลังเริ่มแสดงอาการ และ มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 70% ถึงแม้ว่าจะได้รับการรักษาแล้ว จึงต้องมีการวางแผนการรักษาเป็นอย่างดีและเร่งด่วน ทำให้เกิดงานวิจัยการเตรียมและทดสอบประสิทธิภาพของพลาสม่าแช่เย็นและแช่แข็ง (fresh-frozen plasma) เพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน ซึ่งผลการวิจัยพบว่าสามารถเก็บพลาสม่าของช้างแช่แข็งไว้ได้ถึง 1 ปี โดยที่ยังคงประสิทธิภาพในการรักษาได้


พลาสม่าแช่เย็นและแช่แข็งได้นำมาใช้ในการรักษาช้างหลายโอกาส เช่น การรักษาช้างที่ไม่กินอาหารและน้ำเป็นเวลา 20 วัน การรักษาช้างที่เกิดภาวะสูญเสียเลือดอย่างรุนแรงหลังคลอดลูก การรักษาลูกช้างที่สูญเสียเลือดจากการติดเชื้อโรคไวรัสเฮอร์ปีส์ในช้าง เป็นต้น ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยสามารถช่วยรักษาชีวิตช้างที่เป็นสัตว์สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และประเทศไทยได้หลายเชือก ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวได้มีการเผยแพร่และวางแผนการจัดทำธนาคารพลาสม่าช้างทั่วประเทศ และ ในประเทศอื่นๆเพื่อช่วยเหลือช้างทั่วโลกต่อไป


ข้อมูลโดย : ศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แกลลอรี่