CAMT มช. จับมือหอการค้าเชียงใหม่เปิดหลักสูตร DII+ พัฒนากำลังคนดิจิทัลในรูปแบบ Education Sandbox

20 ตุลาคม 2564

วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี

 วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับหอการค้าเชียงใหม่ สร้างหลักสูตรบูรณาการอุตสาหกรรมดิจิทัล พลัส หรือ “Digital Industry Integration Plus” (DII+) 2 ด้านคือ E-Commerce Trader และ Digital Business and Marketing ในรูปแบบ Education Sandbox โดยออกแบบหลักสูตรร่วมกับผู้ประกอบการ ทั้งด้านการเรียนและด้านการทำงานควบคู่กันไป ผู้เรียนสามารถจบหลักสูตรภายใน 3 ปีได้ โดยใช้แบบจำลองหรือโมเดลจากเยอรมัน และฝรั่งเศส เป็นต้นแบบ


นาย จุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมลงนามเอ็มโอยู กับผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.วรวิชญ์จันทร์ฉาย คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สร้างหลักสูตร บูรณาการอุตสาหกรรมดิจิทัล พลัส หรือ “Digital Industry Integration Plus” (DII+) เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ณ G’s Park ต.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่  เพื่อสร้างกำลังคน ดิจิทัลป้อนผู้ประกอบการ SME เชียงใหม่ ตามความต้องการของตลาด เพื่อรับนักศึกษาเข้าปฎิบัติงาน ร่วมกับผู้ประกอบการ จำนวน 22 เดือน เพื่อตอบโจทย์การศึกษาในรูปแบบ Education Sandbox ต้นแบบของประเทศ โดยชูจุดเด่น หลักสูตรผู้ประกอบการ ร่วมโครงการจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี 250 เปอร์เซ็นต์ และพัฒนาบุคลากร ของบริษัทเป็นเวลา 3 ปี นักศึกษาจะได้รับค่าตอบแทน 7 หมื่นบาท ตลอดระยะเวลาที่ศึกษา รับนักเรียนที่กำลังศึกษาและจบมัธยมชั้นปีที่ 6 ในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อเปิดรับนักศึกษาผ่านช่องทาง TCAS รอบ 1 จำนวน 60 คน โดยแบ่งหลักสูตรเป็นทฤษฎีเชิงกว้าง25 % ทฤษฎีเชิงลึก 50 % และฝึกปฏิบัติ อีก 25 % รวม 22 เดือนหลังผ่านการคัดเลือก ต้องทำสัญญา 3 ฝ่าย คือ ผู้ประกอบการ นักศึกษาและผู้ปกครอง เพื่อฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการ โดยได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 5,000 บาท เป็นเงิน 70,000 บาท


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภราดร สุรีพงษ์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์ปฎิรูปดิจิทัลวิทยาลัยศิลปะสื่อและเทคโนโลยีฯ กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการระบาดใหญ่ ทำให้เกิดทั้งวิกฤติและโอกาสสำหรับประเทศไทย จำเป็นที่จะต้องเร่งสร้างเครื่องมือใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเฉพาะทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปฏิรูปธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเติบโตได้ในปัจจุบัน ซึ่งทางวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี และหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เชื่อว่า การปรับตัวทั้งแรงงานและธุรกิจโดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ จะสอนให้ผู้เรียนและธุรกิจ “อยู่ให้รอด” ในสถานณการณ์เช่นนี้ “อยู่ให้เป็น” ในสถานการณ์ Post-COVID และ “อยู่ให้ได้” ในเศรษฐกิจแห่งอนาคต

แกลลอรี่