มช. เร่งเครื่อง! ดันงานวิจัยสู่ธุรกิจจริงผ่าน ‘อ่างแก้ว โฮลดิ้ง’ หนุนตั้งบริษัทเทคโนโลยีขับเคลื่อน New S-Curve ของไทย

7 พฤษภาคม 2568

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

          มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ผู้นำมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมของไทย พร้อมยกระดับกลไกสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจจากงานวิจัย (Spin-off) ส่งเสริมการนำงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ เพิ่มเติมจากรูปแบบเดิมที่เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชน โดยมี อ่างแก้ว โฮลดิ้ง เป็นเครื่องมือสำคัญในการแปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุนให้อาจารย์และนักศึกษาสามารถตั้งบริษัทจากงานวิจัย เปิดโอกาสเส้นทางชีวิตใหม่ให้นักศึกษาปริญญาโทและเอกเป็น CEO/CTO เข้าสู่กระบวนการระดมทุน สร้างการเติบโตของบริษัทเทคโนโลยี นำไปสู่การจ้างงานทักษะสูงในพื้นที่

         ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า อ่างแก้ว โฮลดิ้ง เป็นบริษัทโฮลดิ้งลำดับแรก ๆ ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2561 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้นหนึ่งล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งบริษัทจากผลงานวิจัย เป็นทางเลือกใหม่ในการผลักดันงานวิจัยโดยเฉพาะ Deep Tech ออกสู่เชิงพาณิชย์ เปิดโอกาสให้อาจารย์และนักศึกษาได้ทำงานเพื่อเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงในรูปแบบบริษัท สร้างธุรกิจที่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม และผลตอบแทนกลับสู่มหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน ในปัจจุบัน อ่างแก้ว โฮลดิ้ง มีนโยบายการลงทุน 5 นโยบาย ได้แก่ (1) การลงทุนในธุรกิจจากองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของมหาวิทยาลัย (2) การ Joint Venture กับบริษัทเอกชนมืออาชีพ (3) การแปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุน (4) การลงทุนใน Startup ที่มีศักยภาพและอัตราการเติบโตสูง และ (5) การทำงานร่วมกับกองทุนหรือโฮลดิ้งอื่นๆ โดยในปี 2568 อ่างแก้ว โฮลดิ้ง มีบริษัทลูกรวมจำนวน 22 บริษัท ที่มีการดำเนินธุรกิจ มีผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด และมีนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

          เพื่อเป็นการแสดงถึงผลงานของ อ่างแก้ว โฮลดิ้ง เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 ณ อาคารอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ ได้มีการจัดแสดงผลงานของบริษัท Spin-off จากงานวิจัยที่เป็นบริษัทลูกของ อ่างแก้ว โฮลดิ้ง จำนวน 9 บริษัท ให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุนที่มาร่วมงาน IMO Day ภายใต้ธีม CMU x Raisewell: Bridging Thai Innovation and Startups to Global Ecosystem ได้แก่

  • บริษัท วีดี เทคดี จำกัด จากคณะอุตสาหกรรมเกษตร ผู้คิดค้นเครื่องดื่มสารสกัดโอลิโกแซคคาไรด์จากข้าวที่สกัดด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับนักกีฬาประเภททนทาน โดยผลงานนี้ได้รับรางวัล Gold Medal with Congratulations from the Jury จากงาน the 50th Geneva International Exhibition 2025 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิซ
  • บริษัท พรีเซอร์เวชั่น อนาโตมี อินโนเวชั่น จำกัด จากคณะแพทยศาสตร์ ผู้คิดค้นนวัตกรรมน้ำยารักษาสภาพร่างอาจารย์ใหญ่สูตรใหม่จากสารสกัดธรรมชาติ ไร้กลิ่นไม่พึงประสงค์ ไร้สารพิษ มีต้นทุนการผลิตถูกกว่าสูตรเดิม และช่วยสร้างบรรยากาศในการเรียนที่ดีให้กับนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยนวัตกรรมนี้ได้รับรางวัล Silver Medal จากงาน the 49th Geneva International Exhibition 2024 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
  • บริษัท อินโนเวชั่น อิน เนอร์สซิ่ง จำกัด จากคณะพยาบาลศาสตร์ ผู้พัฒนาโมดูลการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยี VR สำหรับฝึกหัดพยาบาลวิชาชีพในหัตถการที่ต้องการความชำนาญเฉพาะด้าน และพบได้น้อยในผู้ป่วยทั่วไป โดยผลงานนี้ได้รับรางวัล Silver Medal จากงาน The 50th Geneva International Exhibition 2025 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
  • บริษัท โนวาแมท โซลูชัน จำกัด จากคณะวิทยาศาสตร์ ผู้พัฒนาวัสดุสำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยเริ่มต้นการพัฒนาวัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์ (MOF) จากขยะพลาสติกและกระป๋องน้ำอัดลม เพื่อใช้สำหรับการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยนวัตกรรมนี้ได้รับรางวัล Gold Prize และ The Best Foreign Invention Special Award จาก International Warsaw Invention Show 2023 ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์
  • บริษัท ซีเอ็ม ไฟโตเทค จำกัด จากคณะวิทยาศาสตร์ ผู้นำเทคโนโลยีการสกัดขั้นสูงมาใช้ในการสกัดสารสำคัญในสมุนไพรไทย โดยเริ่มต้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ดูแลสุนัขและแมวจากเปลือกกระเชาเพื่อแก้ปัญหาโรคเรื้อนและโรคผิวหนัง ที่ไม่มีสารเคมีที่เป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยง ผลงานนี้ได้รับรางวัล Gold Prize จากงาน the 50th Geneva International Exhibition 2025 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิซ
  • บริษัท ลอจิกซ์เอด จำกัด จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้พัฒนาหุ่นยนต์ GoGoBoard ที่ส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเยาวชน เพื่อให้เกิดการคิดอย่างเป็นระบบและมีความคิดสร้างสรรค์ ผ่านเครือข่ายอุปกรณ์และโปรแกรมการเขียนชุดคำสั่งในรูปแบบกราฟิกลาก-วาง โดยผู้ใช้สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและไม่จำเป็นต้องมีทักษะเฉพาะด้าน ผลงานนี้ได้รับรางวัล Gold Prize จากงาน Seoul International Invention Fair 2023 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี
  • บริษัท เฮลเทค โซลูชั่น จำกัด จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้พัฒนาระบบบริหารจัดการเวรเปลในโรงพยาบาล ที่ผสานเทคโนโลยีระบบระบุตำแหน่งภายในอาคาร Wi-Fi-Fingerprint Localization ให้สามารถระบุตำแหน่งพนักงานเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดความสูญเสียที่เกิดจากการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ไม่มีประสิทธิภาพ
  • บริษัท ดิเอทฟลอร์ จำกัด จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มบันทึกข้อมูลจากจากภาพถ่ายเพื่อวิเคราะห์และประมวลผลแบบเรียลไทม์ด้วยเทคโนโลยี AI และ Image Processing
  • บริษัท เอ็นไวรอน อินไซท์ จำกัด จากคณะสังคมศาสตร์ ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลด้วยการบูรณาการข้อมูลตรวจวัดข้อมูลระยะไกลและการพยากรณ์ ที่อาจารย์ผู้พัฒนาได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีและนวัตกรรมดีเด่นที่มีผลกระทบด้านนโยบายสาธารณะของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี 2566


            ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน มช. ได้มีกลไกภายในมหาลัยที่สนับสนุนการตั้งบริษัทจากงานวิจัยที่ครบวงจร อาทิ โปรแกรมคัดเลือกและบ่มเพาะ Deep Tech ที่มีศักยภาพเชิงธุรกิจ โปรแกรมการวิเคราะห์และบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา โปรแกรมส่งเสริมการทดสอบตลาดทั้งในและต่างประเทศ โปรแกรมสนับสนุนให้นักศึกษาตั้งบริษัทผ่านแพลตฟอร์ม builds และโปรแกรมสนับสนุนนักศึกษาปริญญาโทและเอกให้เป็น CEO/CTO ของบริษัทจากงานวิจัย โดยตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา บริษัทลูกทั้งหมดสร้างรายได้รวมมากกว่า 530 ล้านบาท ทำให้เกิดการนำงานวิจัยไปสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์มากกว่า 20 ผลงาน รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักวิจัยกว่า 340 คน และนักศึกษามากกว่า 150 คน ได้เข้าสู่กระบวนการทำงานและเรียนรู้จากประสบการณ์จริงในภาคธุรกิจ

           ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวปิดท้ายว่า ในปัจจุบัน อ่างแก้ว โฮลดิ้ง ได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 10 ล้านบาท และเริ่มมีการปันผลให้กับผู้ถือหุ้น และคณะส่วนงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับอาจารย์ นักวิจัย และนักลงทุนในการทำงานร่วมกับ อ่างแก้ว โฮลดิ้ง โดยในอนาคตอันใกล้นี้ มีแผนที่จะเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท อ่างแก้ว โฮลดิ้ง เพื่อรองรับการขยายตัวและการเติบโตของบริษัทลูกของ อ่างแก้ว โฮลดิ้ง และการลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ยังมีนโยบายในการสนับสนุนให้ มช. มีกลไกใหม่ ๆ ในการยกระดับงานวิจัยสนับสนุนอาจารย์ นักศึกษา เพื่อเชื่อมต่อการทำงานกับ อ่างแก้ว โฮลดิ้ง รวมถึงการทำงานกับ Raisewell Ventures เพื่อผลักดันเทคโนโลยีของ มช. ให้เชื่อมกับระบบนิเวศนวัตกรรมและการลงทุนในระดับโลก นำไปสู่การสร้างผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจและสังคมในองค์รวมอย่างยั่งยืนต่อไป

แกลลอรี่