คณะแพทย์ มช. เปิด“โครงการผลิตแพทย์นักวิทยาการข้อมูล” เพื่อผลิตแพทย์ให้มีความสามารถที่หลากหลาย

19 กันยายน 2563

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดหลักสูตร “โครงการผลิตแพทย์นักวิทยาการข้อมูล” (หลักสูตร 2 ปริญญา, เรียน 7 ปี) หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต รวมกับหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการข้อมูล) เพื่อผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร สามารถนำองค์ความรู้ทั้งด้านแพทยศาสตร์ และทักษะทางด้านการจัดการข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการประยุกต์ใช้วิทยาการข้อมูล ทำการแก้ไขปัญหา หรือสังเคราะห์ความเข้าใจเชิงลึก ในวันศุกร์ที่ 18 กันยายน 2563 ระหว่างเวลา 10.30 - 12.00 น. ณ ศูนย์ MTEC ชั้น 4 อาคารเรียนรวม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ องคมนตรี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย และนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี


ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า วิทยาการข้อมูล คือศาสตร์ที่บูรณาการองค์ความรู้จากสายงานวิทยาการและวิศวกรรมด้านคอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์และสถิติ การบริหารจัดการสารสนเทศและธุรกิจ และสายงานในการประยุกต์ใช้ (ในที่นี้ คือ สาขาแพทยศาสตร์) มาบูรณาการร่วมกัน เพื่อสร้างแนวทาง กระบวนการ หรือระบบการวิเคราะห์ข้อมูล ให้ได้มาซึ่งความรู้ ความเข้าใจเชิงลึกจากข้อมูลขนาดใหญ่ หรือข้อมูลที่มีความซับซ้อนสูง โดยนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ และสำเร็จการศึกษา จะสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นแพทย์ที่สามารถนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาการข้อมูลไปใช้ได้ ในลักษณะดังนี้

- การนำองค์ความรู้ในด้านวิทยาการและวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์และสถิติ ไปใช้ในทางการแพทย์ อาทิ การประมวลข้อมูลภาพ เสียง วีดิทัศน์ หรือข้อความ เพื่อประยุกต์ใช้ในการตรวจรักษาผู้ป่วย ได้แก่ การค้นหาจุดผิดปกติในภาพรังสี (X-ray หรือ CT) หรือการพัฒนาโมเดลข้อมูลในการทำนายโอกาสการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ เป็นต้น
- การนำองค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการสารสนเทศ ไปใช้ในการจัดการข้อมูลสารสนเทศในสถานพยาบาล ทั้งในส่วนข้อมูลการรักษาพยาบาล (Medical data) และข้อมูลในระดับองค์กร (Corporate data) เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการสถานพยาบาล โดยใช้ข้อมูลจริงได้อย่างมีประสิทธิผล
- การนำองค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการ และศาสตร์องค์รวมของวิทยาการข้อมูล ไปรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งจากภายในและภายนอกสถานพยาบาล รวมถึงข้อมูลจากแหล่งที่ไม่เคยใช้ อาทิ ข้อมูลประเภทอักษรแบบไม่มีรูปแบบ (Unstructured data) จากรายงานต่าง ๆ ข้อมูลจากเสียงจากบทสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเสนอในเชิงนโยบายที่มีข้อมูลรองรับได้


จากสถานการณ์ของโลกในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกๆด้าน โดยเฉพาะด้านข้อมูล และเทคโนโลยีสารสนเทศที่นำมาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ ทั้งด้านการจัดการข้อมูลผู้ป่วย การทำนายกระบวนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย หรือการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสถานพยาบาลด้วยข้อมูลขนาดใหญ่ ประกอบกับแนวคิดจากการประชุมแพทยศาสตรศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ที่จะผลิตแพทย์ที่ตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลาย อาทิ แพทย์ที่มุ่งเน้นชุมชน แพทย์เฉพาะทาง และแพทย์นักวิชาการ ซึ่งการที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะแพทยศาสตร์ และกลุ่มบูรณาการวิชาการด้านวิทยาการข้อมูล ซึ่งประกอบด้วย คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี รวมถึงสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้เสนอโครงการผลิตแพทย์นักวิทยาการข้อมูล โดยเป็นโครงการต้นแบบที่มีการเชื่อมโยงระหว่าง 2 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาแพทย์ (หลักสูตรปริญญาตรี) และสาขาวิชาวิทยาการข้อมูล (หลักสูตรปริญญาโท) เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้มีความรู้เกี่ยวกับวิทยาการข้อมูล อาทิ การวิเคราะห์และจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ ปัญญาประดิษฐ์ การเรียนรู้ของเครื่อง และการจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้วยการประมวลผลแบบคลาวด์ เพื่อให้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองโจทย์ของสังคมและประเทศไทย ตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 และดิจิทัลไทยแลนด์ และแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 ที่จะผลิตบัณฑิตที่คุณภาพ คุณธรรม และมีทักษะการเป็นพลเมืองโลก สร้างงานวิจัยที่เป็นเลิศ และให้บริการวิชาการที่เกิดประโยชน์แก่สังคม รวมทั้งแนวคิดในการผลิตแพทย์ที่ให้มีความสามารถที่หลากหลาย


ดังนั้นผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้ จะเป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ทั้งด้านแพทยศาสตร์ และทักษะทางด้านการจัดการข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการประยุกต์ใช้วิทยาการข้อมูล เพื่อทำการแก้ไขปัญหา หรือสังเคราะห์ความเข้าใจเชิงลึก ซึ่งความได้เปรียบของผู้ที่เรียนในหลักสูตรนี้ คือการที่มีพื้นที่ที่ใช้เพื่อทำการศึกษาข้อมูลจริง และมีคณาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรที่สอดคล้องกับหลักสูตรโดยตรง จึงทำให้ผู้เรียนได้รับทั้งความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ และมีข้อมูลให้ทำการศึกษา

#CMU #ChiangMaiUniversity #มช #มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

#มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

#CMUSDGs #CMUSDG3 #CMUSDG4 #SDG3 #SDG4
ข้อมูลโดย : คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แกลลอรี่