นักวิจัยไทยเริ่มปฏิบัติการตามแผนในทวีปแอนตาร์กติกาแล้ว

5 มกราคม 2567

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

         
              นักวิจัยไทยตามโครงการความร่วมมือไทย-ไอซ์คิวบ์ ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เริ่มดำเนินการวิจัยด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ตามแผนการวิจัยในทวีปแอนตาร์กติกาแล้ว

            
                โดย เรือโท ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดม จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เดินทางถึงหอสังเกตการณ์นิวทริโนไอซ์คิวป์ ที่ตั้งอยู่ ณ ละติจูด 90 องศาใต้ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา และได้เริ่มปฏิบัติภารกิจร่วมกับวิศวกรจากนานาชาติ ในการเจาะน้ำแข็งเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดนิวทริโนใต้แผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกใต้ โดยจะใช้เวลาปฏิบัติงาน ณ ขั้วโลกใต้ประมาณ 2 เดือน

               และในวันที่ 27 ธันวาคม เครื่องตรวจวัดอนุภาคนิวตรอนแบบเคลื่อนที่ “ช้างแวน” ได้ติดตั้งและเริ่มตรวจวัดอนุภาคนิวตรอนบนเรือตัดน้ำแข็งเอราออนของสาธารณรัฐเกาหลี และจะออกเดินทางไปยังทวีปแอนตาร์กติกาในวันที่ 28 ธันวาคม โดยมี นางสาวอัจฉราภรณ์ ผักหวาน ผู้ช่วยวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล (นักศึกษาเก่าคณะวิทยาศาสตร์) เดินทางไปควบคุมการทำงานของ “ช้างแวน” โดยจะตรวจวัดอนุภาคนิวตรอนตามเส้นทางจากเมืองไครช์เชิร์ต ประเทศนิวซีแลนด์ ไปยังสถานีวิจัยจางโบโก บนทวีปแอนตาร์กติกา และสิ้นสุดการเดินทาง ณ เมืองกวางยาง สาธารณรัฐเกาหลี ในราวเดือนเมษายน 2567

               โครงการความร่วมมือไทย-ไอซ์คิวบ์ ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นี้ มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ นันทิยกุล เป็นหัวหน้าโครงการ

             โดยนอกจากจะได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจากมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อส่งเสริมให้นักวิจัยไทยเข้าร่วมการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ขั้วโลกของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาชาติแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง วช.-สวทช. กลุ่มวิจัยระบบนิเวศโลก-อวกาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยความร่วมมือกับ US National Science Foundation (NSF) และ Wisconsin IceCube Particle Astrophysics Center (WIPAC) ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Korea Polar Research Institute (KOPRI) ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี

เรือโท ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดม โบกธงพระนามาภิไธย “สธ.” ณ ขั้วโลกใต้

ซึ่งได้รับพระราชทานเมื่อครั้งเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก่อนออกเดินทาง


เรือโท ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดม ถ่ายภาพหน้าหอสังเกตการณ์นิวทริโนไอซ์คิวบ์ ณ ขั้วโลกใต้

เรือโท ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดม ขณะปฏิบัติการเจาะน้ำแข็ง ณ ขั้วโลกใต้

เครื่องตรวจวัดอนุภาคนิวตรอนแบบเคลื่อนที่ “ช้างแวน” ขณะติดตั้งบนเรือตัดน้ำแข็งเอราออนของสาธารณรัฐเกาหลี

นส.อัจฉราภรณ์ ผักหวาน ถ่ายภาพกับเรือตัดน้ำแข็งเอราออนก่อนออกเดินทาง

คณะนักวิจัย (จากซ้ายไปขวา) ประกอบด้วย ผศ.ดร.ศิรามาศ โกมลจินดา (มช.) ดร.อัจฉรา เสรีเพียรเลิศ (NARIT) นส.อัจฉราภรณ์ ผักหวาน (มม.)

ผศ.ดร.วราภรณ์ นันทิยกุล (มช.) และ Prof. Paul Evenson (University of Delaware)

ถ่ายภาพกับเรือตัดน้ำแข็งเอราออนก่อนการติดตั้งช้างแวน ณ ท่าเรือลิตเติลตัน ในภาพจะเห็นเรือตัดน้ำแข็งเฉว่หลง ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในระยะไกล


ข้อมูลจาก : หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และห้องปฏิบัติการวิจัยดาราศาสตร์

https://www.facebook.com/Sirindhorn.Observatory.CMU/posts/pfbid02ysRnG6vbNgbL9Fot33AVMQ9qzpeFzHz4U5WFfW73Kp78hH91J4hfCTWym3MgRubKl

ข้อมูลโดย : https://www.facebook.com/Sirindhorn.Observatory.CMU/posts/pfbid02ysRnG6vbNgbL9Fot33AVMQ9qzpeFzHz4U5WFfW73Kp78hH91J4hfCTWym3MgRubKl
แกลลอรี่