ริดสีดวงทวาร รักษาได้ ไม่เจ็บ

1 กรกฎาคม 2565

คณะแพทยศาสตร์

หากกล่าวถึงริดสีดวง เมื่อผู้ป่วยมีอาการ มักจะไม่กล้าที่จะพบแพทย์ โดยปล่อยอาการของตัวเองไว้จนกระทั่งลุกลามทนไม่ไหว ในที่สุดต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ โดยปกติแล้วริดสีดวงแบ่งได้หลายระยะ ขึ้นอยู่กับลักษณะของอาการ หากเป็นระยะต้นๆการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการใช้ชีวิตที่เหมาะสมอาจจะไม่ถึงขั้นที่ต้องผ่าตัด
ริดสีดวงทวารคืออะไร
ริดสีดวง คือเนื้อเยื่อปกติที่อยู่ช่องรอบทวาร ซึ่งทุกคนมีเนื้อเยื่อนี้อยู่ มีองค์ประกอบอยู่ด้วยกันหลายอย่าง เป็นเยื่อบุที่มีความยืดหยุ่นและมีหลอดเลือดใต้เยื่อบุ รวมถึงเส้นประสาทที่อยู่รอบๆช่องทวาร ระหว่างการขับถ่ายเนื้อเยื่อนี้มีส่วนสำคัญในการช่วยการขับถ่าย ความยืดหยุ่นจะช่วยลดแรงเสียดสี ทำให้ไม่เกิดบาดแผล รวมถึงเมื่ออยู่ในภาวะปกติ เมื่อมีอาการไอ จาม จะเป็นตัวที่คอยช่วยทำหน้าที่ในการกลั้น ทำให้อุจาระ หรือลมไม่เล็ดออกมา หรือแม้กระทั่งการรับรู้ถึงความรู้สึก เมื่ออยากผายลม หรืออยากขับถ่ายอุจจาระ เราสามารถแยกได้ด้วยเส้นประสาทที่อยู่รอบรูทวาร ดังนั้นเนื้อเยื่อริดสีดวงจึงมีความสำคัญในเรื่องการขับถ่ายระดับหนึ่ง เพียงแต่เมื่อไหร่ก็ตาม ที่ตัวริดสีดวงเกิดความผิดปกติขึ้น อาทิ มีการปูดยื่น เยื่อบุที่มีการบางตัวลง หรือหลอดเลือดที่มีการโป่งพองขึ้น จึงทำให้เกิดภาวะโรคริดสีดวงทวาร ซึ่งตรงนี้จะเป็นปัญหา และสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตค่อนข้างมากพอสมควร
ชนิดของโรคสีดวงทวารแบ่งเป็นเป็น 2 ชนิด
1.ริดสีดวงทวารภายใน อยู่ในรูทวาร หากมีปัญหาขึ้นมาบางครั้งจะมีปูดยื่นหรือปลิ้นออกมา รวมถึงมีเลือดออกได้ ระหว่างการขับถ่าย เป็นโรคที่พบได้บ่อย
ระยะของริดสีดวงทวารภายใน มี 4 ระยะ
- ระยะที่ 1 เมื่อขับถ่ายอุจจาระ และสัมผัสโดน อาจจะทำให้มีเลือดออกได้ แต่จะไม่มีก้อนปูดยื่นปลิ้นออกมาให้เห็นภายนอก
- ระยะที่ 2 ก้อนมีขนาดใหญ่มากขึ้น เริ่มมีการปลิ้นยื่นออกมาจากรูทวาร หลังขับถ่ายก้อนริดสีดวงจะหดกลับเข้าไปเอง บางครั้งอาจจะทำให้เลือดออกร่วมด้วย
- ระยะที่ 3 ริดสีดวงมีการปลิ้นยื่นออกมาจากรูทวารระหว่างการขับถ่าย ไม่สามารถหดกลับเข้าเองได้ ผู้ป่วยต้องใช้นิ้วในการช่วยดันกลับ จะเริ่มมีปัญหาอื่นร่วมด้วย เริ่มปวดมากขึ้น
- ระยะที่ 4 ริดสีดวงออกมาแล้วค้างอยู่ด้านนอก ไม่สามารถกลับเข้าในรูทวาร
2.ริดสีดวงทวารภายนอก เป็นก้อนนูนที่ขอบทวารด้านนอก ผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการอะไรนำมาก่อน แต่บางครั้งภาวะท้องผูก เบ่งมากหรือการนั่ง หรือเดินทางนาน ทำให้เกิดการเสียดสีบาดเจ็บของขอบทวาร ทำให้เกิดลิ่มเลือดภายใน เกิดการปูดยื่นออกมา ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาด้วยเรื่องอาการปวดร่วมกับการคลำพบก้อนที่ขอบทวาร ในระยะ 2-3 วัน การรักษาโดยการกรีดระบายเอาลิ่มเลือดออก ก้อนจะยุบและทำให้อาการปวดดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
สาเหตุหลักของการเป็นริดสีดวงทวาร
เนื่องจากริดสีดวงทวารเป็นเนื้อที่อยู่ในรูทวาร ที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่าย สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเช่นนี้เกิดได้หลายประการ ได้แก่
-การนั่งขับถ่ายอุจจาระนาน การเบ่งอุจจาระแรง
-ภาวะท้องผูก ทานอาหารที่ผิดสุขลักษณะ อาทิ ดื่มน้ำน้อยเกินไป ทานอาหารที่มีกากใยน้อย เป็นต้น
-มีโรคประจำตัวอื่นที่เพิ่มความดันในช่องท้อง อาทิ ตับแข็ง ภาวะตั้งครรภ์ โรคอ้วน เป็นต้น
อาการที่พบบ่อยของริดสีดวงทวาร มี 2 อาการ คือ
-มีเลือดออกขณะหรือหลังถ่ายอุจจาระ
-มีติ่งหรือก้อนยื่นออกจากรูทวาร ระหว่างการขับถ่าย อาจมีอาการคัน ปวด เจ็บ บริเวณที่เป็นริดสีดวง
การวินิจฉัยโรคริดสีดวง
-สอบถามประวัติของผู้ป่วย
-ตรวจร่างกาย ด้วยเครื่องมือในการตรวจริดสีดวงทวาร (กล้องส่องในรูทวาร) ร่วมกับการตรวจทวารหนักด้วยนิ้วมือ เพื่อแยกโรคอื่น ๆ
ภาวะเลือดออกที่ควรระวัง
-มีความผิดปกติของการขับภ่ายที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม
-มีอาการปวดหน่วง ร่วมกับมีมูกเลือดปน
-มีอาการปวดท้องเรื้อรัง
-มีภาวะซีดอ่อนเพลีย
-มีน้ำหนักลดผิดปกติ
-มีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว รวมถึงมะเร็งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ภาวะแทรกซ้อน
บางรายมีภาวะเลือดออกมากผิดปกติ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง หรือเลือดออกจนความดันโลหิตต่ำ จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย หรือในบางกรณีก้อนยื่นออกพ้นรูทวาร และถูกหูรูดทวารรัดตัวแน่น ไม่สามารถหดกลับได้ ส่งผลให้บวม จนกระทั่งเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆเกิดภาวะขาดเลือด ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อ มีฝีหนอง ตามมาได้
การรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรค แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
การรักษาโดยการไม่ผ่าตัด
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นในระยะที่ 1 และระยะที่ 2
-ให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหาร ลดการแบ่งในขณะที่เข้าห้องน้ำในระยะเวลานาน
-รับประทานยา หรือเหน็บยา
-การใช้ยางรัดตรงขั้วหัวริดสีดวงทวาร เพื่อให้เนื้อเยื่อมีอาการขาดเลือดและหลุดออกมาเองตามธรรมชาติ
-ฉีดสารกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ทำให้เกิดพังผืดหดรัดเส้นเลือด
การรักษาโดยการผ่าตัด
จะทำการรักษาในผู้ป่วยระยะที่ 3 และระยะที่ 4 การผ่าตัดริดสีดวงมีด้วยกันหลายวิธี ขึ้นอยู่กับลักษณะของริดสีดวงทวาร และการพิจารณาของแพทย์ตามความเหมาะสม หลังการผ่าตัดสามารถกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้ในวันถัดไป
โรคริดสีดวงเป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัว เพราะทุกคนต้องขับถ่าย แม้จะเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายเองได้ก็สามารถกลับมาเป็นได้อีก หากมีอาการผิดปกติ หรือคิดว่าตัวเองเป็นโรคริดสีดวงควรรีบเข้าพบแพทย์ ไม่ควรปล่อยให้เป็นนานเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจตามมาได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: ผศ.นพ.สุวรรณ แสนหมี่ อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.


เรียบเรียง: นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#ริดสีดวงทวาร
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU

แกลลอรี่