การหกล้มหรือการเดินไม่มั่นคงหรือสูญเสียการทรงตัวนั้นเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่เนื่องจากระบบการควบคุมการทรงตัวของผู้สูงอายุจะเสื่อมสภาพไปตามวัยที่เพิ่มขึ้น และการเสื่อมถอยลงในลักษณะของมวลกระดูกที่ลดลงหรือเรียกว่า ภาวะกระดูกพรุน หากสองประเด็นปัญหานี้โคจรมาพบกันก็คงลงเอยด้วยการเกิดกระดูกหัก ซึ่งเป็นผลร้ายต่อสุขภาพของผู้สูงวัยเป็นอย่างยิ่ง
จะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการหกล้ม?
1 พิจารณาจากประวัติการหกล้มในปีที่ผ่านมาหรือประวัติเสียการทรงตัว ทำให้การเดินไม่มั่นคงเหมือนที่เคยเป็น
2ตรวจประเมินความสามารถในการทรงตัว ซึ่งแพทย์สามารถทำได้โดยวิธีง่ายๆ คือ ความสามารถในการยืนขาเดียว ,ยืนต่อส้นควรทำได้นานกว่า 30 วินาที ในขณะทดสอบควรต้องระวังการหกล้มด้วย หากไม่สามารถทำได้เกิน 30 วินาที แสดงว่าท่านเป็นผู้ที่มีการทรงตัวบกพร่อง และมีโอกาสเกิดการหกล้ม
หากท่านเป็นผู้ที่มีปัญหาเรื่องการทรงตัวและมีความเสี่ยงต่อการหกล้ม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุ เช่น โรคทางระบบประสาท การมองเห็นภาพที่ไม่ชัดเจน หรือกรณีเป็นต้อที่มีผลต่อการมองเห็น และการกะระยะ การใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาท รวมถึงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย เช่น พื้นลื่น พื้นต่างระดับ แสงสว่างที่ไม่เพียงพอ สายไฟหรือของระเกะระกะที่อยู่ตามพื้น
การฝึกการทรงตัว
1 การยืนย่ำเท้าอยู่กับที่เหมือนทหารเดินสวนสนาม
2 การฝึกยืนย่อเข่าเล็กน้อยแล้วเหยียดเข่าขึ้น
3 การฝึกยืนเขย่งปลายเท้าขึ้นลง
4 การฝึกยืนเอื้อมให้ไกลที่สุดโดยไม่ล้ม
เมื่อทำได้ดีขึ้น ให้เพิ่มเป็นการฝึกเดินเขย่งปลายเท้า เดินส้นเท้า เดินไปด้านข้าง เดินถอยหลัง และเดินต่อส้น เป็นต้น โดยขณะเริ่มทำ ควรหาที่เกาะที่มั่นคงก่อน เช่น โต๊ะ หรือ เก้าอี้ไม่มีล้อ เพื่อป้องกันการหกล้มที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะฝึก
ที่มา แพทยสภา
#ผู้สูงอายุ #หกล้ม
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU