“วัคซีนโควิด-19 ในสตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร”

21 มิถุนายน 2564

คณะแพทยศาสตร์

สตรีตั้งครรภ์จะมีโอกาสการติดเชื้อโควิด-19 เหมือนบุคคลทั่วไป ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในพื้นที่ใด มีอาชีพ หรือพฤติกรรมเสี่ยงหรือไม่ ปัจจุบันพบว่าอาการที่เกิดขึ้นในสตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 มีความรุนแรงค่อนข้างสูงมากกว่าคนทั่วไป สำหรับข้อมูลของสตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อในประเทศไทย (ข้อมูลวันที่ 10 มิ.ย. 2564) มีทั้งหมด 350 ราย เสียชีวิต 6 ราย คิดเป็นประมาณ 1.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าประชากรทั่วไป ช่วงอายุของสตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้ออยู่ที่ 21 ถึง 40 ปี จึงมีความสำคัญค่อนข้างมากในการป้องกันการติดเชื้อโควิดในสตรีตั้งครรภ์

สำหรับสตรีตั้งครรภ์ สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ โดยมีข้อจำกัดคือ จะต้องไม่เป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อเป็น และจากข้อมูลที่มีในปัจจุบันวัคซีนโควิด-19 ไม่มีวัคซีนชนิดไหนที่ผลิตจากเชื้อเป็น วัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันทั้งหมดจะเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ วัคซีนชนิดสารพันธุกรรมหรือ mRNA และวัคซีนที่ผลิตจากโปรตีนของเชื้อเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และยังไม่พบรายงานเกี่ยวกับสารที่เป็นองค์ประกอบในวัคซีนที่เป็นอันตรายต่อสตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร ดังนั้น จากข้อมูลทั้งหมดพบว่าสตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้เหมือนบุคคลทั่วไป

ในการฉีดวัคซีนให้แก่สตรีตั้งครรภ์นั้น มีโอกาสจะเกิดผลข้างเคียงได้เท่ากับประชาชนทั่วไปที่ได้รับวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวด บวมแดงตำแหน่งที่ฉีด ซึ่งพบได้เป็นปกติ ไม่ได้พบมากกว่าคนปกติ แต่ข้อดีของการฉีดวัคซีนก็คือ ป้องกันการติดเชื้อของสตรีตั้งครรภ์ที่จะมีความรุนแรงมากกว่าคนปกติและยังส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ด้วย ถ้าได้รับวัคซีนแล้วยังมีการติดเชื้อก็จะลดความรุนแรงของโรคลงได้ด้วย ซึ่งเป็นข้อดีของการฉีดวัคซีนและเป็นที่ยืนยันว่า สำหรับทุกองค์กรในโลก ไม่ว่าจะเป็นทวีปอเมริกาหรือยุโรปก็ตาม แนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในสตรีตั้งครรภ์

ถ้าสตรีตั้งครรภ์ท่านใดไม่มีข้อห้ามในการให้วัคซีน เช่น มีประวัติเคยแพ้วัคซีนมาก่อน แนะนำให้ฉีดวัคซีนทุกคน โดยแนะนำให้ฉีดหลังจากตั้งครรภ์ไปแล้ว 12 สัปดาห์ และสามารถฉีดวัคซีนที่มีใช้ในประเทศไทยทั้ง 2 ชนิดได้ทั้งหมด (Sinovac และ AstraZeneca) ไม่มีความแตกต่างในเรื่องของผลข้างเคียง และเนื่องจากสตรีตั้งครรภ์จำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีนชนิดอื่นๆ ด้วย แพทย์ผู้ทำการรักษาก็จะเป็นผู้พิจารณาลำดับของการให้วัคซีนก่อนหลัง

สำหรับสตรีที่ให้นมบุตรก็สามารถฉีดวัคซีนได้ สำหรับผู้ที่วางแผนจะมีบุตรก็สามารถฉีดวัคซีนได้เช่นเดียวกัน ในกรณีที่ฉีดวัคซีนแล้วมีการตั้งครรภ์ภายหลัง แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 หลังจากตั้งครรภ์ไปแล้ว 12 สัปดาห์

การดูแลตัวเองไม่ว่าจะก่อนหรือหลังได้รับวัคซีนในสตรีตั้งครรภ์ ควรจะปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด ไม่เข้าไปอยู่ในที่ชุมชนที่เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ และใส่หน้ากาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติถึงแม้ว่าจะได้หรือไม่ได้รับวัคซีนก็ตาม

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ แผนกฝากครรภ์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

ข้อมูลโดย:
รศ.นพ.ชเนนทร์ วนาภิรักษ์
หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารก ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ประธานคณะอนุกรรมการอนามัยแม่และเด็ก และ นายกสมาคมเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์(ไทย) ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย

รศ.พญ.สุชยา ลือวรรณ
อาจารย์หน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารก ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ติดตามที่
Facebook : https://bit.ly/3pWMuyL
Youtube : https://bit.ly/3gliRnD

#วัคซีนโควิด19ในสตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร
#MedCMU
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#COVID19
#ฉีดวัคซีนหยุดเชื้อเพื่อชาติ
#ใส่Mask #เว้นระยะห่าง #ล้างมือ
แกลลอรี่