ดูแลสุขภาพอย่างไร ในช่วงวิกฤตหมอกควัน

17 กุมภาพันธ์ 2564

คณะแพทยศาสตร์

มลพิษทางอากาศ เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น และพบเห็นได้อย่างชัดเจนทั่วไปทั้งในเขตชุมชนขนาดใหญ่ และพื้นที่พัฒนาที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของกิจกรรมอุตสาหกรรม การคมนาคม การจราจร การก่อสร้าง การเผาขยะมูลฝอย รวมทั้งการเผาของเศษวัสดุในพื้นที่การเกษตร ซึ่งสารมลพิษเหล่านี้ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยตรงแล้ว ยังก่อให้เกิด การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของโลก และทำลายชั้นโอโซนเป็นต้น ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันสุขภาพและชีวิตของประชาชนทั่วไป


วิธีปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศดังนี้

1.ผู้ใช้รถยนต์ควรเปิดระบบหมุนเวียนอากาศภายในห้องโดยสารเพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก

2.ผู้ขี่รถจักรยานยนต์ควรใส่แว่นกันลม ป้องกันฝุ่นละอองระคายเยื่อบุตาและใช้หน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าหนาๆชุบน้ำ ปิดปาก ปิดจมูกทุกครั้ง

3.หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมภายนอกอาคารออกนอกบ้านเมื่อจำเป็น

4.งดการออกกำลังกายทุกชนิดในที่โล่งและที่ร่มโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะในขณะที่อากาศในที่โล่งมีลักษณะหมอกควันหนา มีมลพิษหรือควันพิษ จะทำให้ฝุ่นละอองนาดเล็กถูกหายใจเข้าไปสู่ถุงลมในปอดได้

5.ขณะมีอาการเป็นหวัด ควรใช้หน้ากากอนามัยเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่โล่ง

6.ใช้น้ำเกลือกลั้วคอแล้วบ้วนทิ้งวันละ 3-4 ครั้ง

7.ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจโรคหัวใจ ควรมียาฉุกเฉินพกติดตัวอยู่ตลอดเวลา สังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกรณีอาการกำเริบควรพบแพทย์หรือคลินิกใกล้บ้าน

8.หลีกเลี่ยงการได้รับมลพิษในสิ่งแวดล้อม และอากาศสกปรก เช่นเขม่าควันท่อไอเสียรถยนต์ ไอจากสารเคมี

9.งดการประกอบอาหารโดยใช้เตา การเผากิ่งไม้ใบไม้ การจุดธูป ซึ่งเป็นบ่อเกิดของมลพิษทางอากาศและโรคมะเร็ง

10.ภายในอาคาร/บ้าน ให้ใช้พัดลมดูดอากาศออกสร้างม่านน้ำไหลจากหลังคาจะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศลงได้

11.ทำความสะอาดห้องทำงาน บ้านเรือนด้วยผ้าชุบน้ำ หรือ ม๊อบ ไม่ควรกวาดหรือดูดฝุ่นให้ฟุ้งกระจาย

12.ติดเครื่องกรองอากาศที่สามารถกรองอนุภาพขนาดเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ

13.ดับเครื่องยนต์ ทุกครั้งเมื่อจอดรถ (ถึงแม้จะจอดรอก็ตาม ขอให้ดับเครื่องยนต์ทุกครั้ง)

14.รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานผักสดผลไม้ และอาหารที่มีวิตามินซี วิตามินดีให้มากขึ้น

ข่าว : งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มช.

แกลลอรี่