มช. สานต่อพระราชปณิธาน สร้างอาชีพเกษตรกร นำสยามทิวลิป ไม้ดอกไทย สู่ตลาดโลก

28 ธันวาคม 2563

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

จากพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงรับสั่งว่า “งานนี้เป็นประโยชน์ถึงประชาชนอย่างแท้จริง อย่าได้หยุด ให้ทำต่อไป ชวนอาจารย์มหาวิทยาลัยให้มาช่วยกันให้มากขึ้น ช่วยให้ถึงประชาชน” คือ จุดเริ่มต้นของศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะเกษตรศาสตร์ ที่ได้ทำการศึกษาและพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์ไม้ดอกไทย ในกลุ่มปทุมมาและกระเจียว ที่มีการนำสายพันธุ์และลักษณะทางกายภาพที่โดดเด่นจากทั่วประเทศมาผสมกัน จนได้ลูกผสมที่ดีที่สุด สวยงาม ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นไม้ตัดดอกเศรษฐกิจส่งออกที่สำคัญไปสู่ตลาดต่างประเทศ ในชื่อ สยามทิวลิป

  

สำหรับเส้นทางก่อนจะมาเป็นพันธุ์ไม้ดอกที่สวยงาม ณ ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต้องผ่านการวิจัย ทดลองขยายพันธุ์ โดยได้ ทำการพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกพื้นเมืองของไทยที่ดูแล้วมีศักยภาพนำมาเจียระไน จนได้พันธุ์ที่สวยงาม ซึ่งจากการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องของทีมนักวิชาการ นำมาซึ่งความสำเร็จของการนำดอกปทุมมาผสมกับกระเจียว จนได้ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ ได้ดอกที่มีขนาดใหญ่ สะดุดตา สีสดใส อยู่ได้นานกว่าเดิมถึง 3 เท่า ได้ขึ้นทะเบียนคุ้มครองพันธุ์ในชุด Royal Thai เช่น พันธุ์ Thai Garnet ซึ่งได้รับรางวัลยอดเยี่ยมระดับนานาชาติ ในงานประกวดพืชสวนโลกปี 2009 พันธุ์ Great King พันธุ์ Great Reign เป็นต้น ซึ่งได้นำไปจัดแสดงในต่างประเทศหลายต่อหลายครั้ง เป็นที่ชื่นชอบของผู้พบเห็นทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ปัจจุบันเป็นไม้ดอกที่ส่งออกลำดับที่ 2 รองจากกล้วยไม้ ทั้งนี้ นอกจากตัดดอกขายแล้ว หัวพันธุ์ดอกยังเป็นที่ต้องการในกลุ่มประเทศฝั่งยุโรป ซึ่งหลักๆ ได้แก่ ประเทศเนเธอร์แลนด์กับสหรัฐอเมริกาเพื่อนำไปปลูกต่อเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ ยังได้นำพันธุ์ไม้จากต่างประเทศมาปรับปรุงพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในประเทศไทย เช่น แกลดิโอลัส และว่าน 4 ทิศ จนกระทั่งสามารถปลูกได้ทั่วประเทศ จากการพัฒนาสายพันธุ์ไม้ดอกที่หลากหลาย พร้อมขยายผลสู่กลุ่มชาวบ้านและกลุ่มเกษตรกรที่สนใจนำไม้ดอกไปเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ พะเยา นครนายก ฉะเชิงเทรา ยะลา และนราธิวาส ซึ่งจากผลการดำเนินงานกลุ่มไม้ดอก ปี 2563 สร้างรายได้รวมถึง 18,590,214 บาท

     

ด้วยเป้าหมายสูงสุดของศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มุ่งมั่นในการสืบสานและต่อยอดพระราชปณิธาน โดยหวังให้ราษฎรมีอาชีพพึ่งพาตนเองได้ จึงมีแนวทางส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีใจรักในการปลูกดอกไม้มาอบรม ถ่ายทอดความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ เพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างโอกาส สร้างรายได้ สามารถส่งขายได้ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน .

แกลลอรี่