ปวดข้อ ข้อบวม เสี่ยงโรคเกาต์

17 พฤศจิกายน 2566

คณะแพทยศาสตร์

เมื่อมีอาการปวดและข้ออักเสบบวม หลายคนมักจะคิดถึงโรคเกาต์เป็นอันดับแรก โรคเกาต์เป็นโรคที่พบได้บ่อย จากการศึกษาพบว่า อุบัติการณ์ในประเทศไทย พบได้ประมาณ 0.16 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายความว่า 1 พันราย พบได้ 1.6 ราย หากคำนวณจากประชากรไทยประมาณ 70 ล้านคน จะพบผู้ป่วยได้ถึง 1 แสนกว่าราย โดยโรคนี้จะพบในเพศชายได้บ่อยกว่าเพศหญิง ประมาณ 10 เท่า ในเพศหญิงมักพบระยะเข้าสู่วัยหลังหมดประจำเดือนไปแล้ว

โรคข้อและรูมาติสซั่มคืออะไร
โรคข้อและรูมาติส คือกลุ่มโรคข้อ กระดูก โรคกล้ามเนื้อ หรือเกี่ยวกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของร่างกาย ที่เป็นได้ตั้งแต่พันธุกรรม การอักเสบ ความเสื่อม ความผิดปกติทางระบบภูมิคุ้มกัน จึงประกอบไปด้วยโรคต่างๆ มากกว่า 100 ชนิด โรคเกาต์เป็นหนึ่งในโรคข้อและรูมาติสซั่มที่พบได้บ่อย โรคอื่นๆ ที่จัดเป็นกลุ่มโรคข้อและรูมาติสซั่มที่รู้จักกันดี ได้แก่ โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตนเอง หรือโรคเอสแอลอี (SLE) โรคหนังแข็ง หรือโรคกล้ามเนื้ออักเสบทั่วตัว เป็นต้น

สาเหตุของโรคเกาต์เกิดจากอะไร
โรคเกาต์ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เป็นผลจากการที่มีระดับยูริกในเลือดสูงเกินจุดอิ่มตัว (6.4 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) เป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการตกตะกอนเป็นผลึกเกลือยูเรตในช่องข้อ และรอบๆ ข้อ จนมากพอที่จะกระตุ้นให้เกิดข้ออักเสบได้ ในบางครั้งกรดยูริกที่สูงอาจไปตกตะกอนที่ไต ก่อให้เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เป็นโรคเกาต์จะมีประวัติปัสสาวะเป็นนิ่วนำมาก่อน

กรดยูริกในร่างกายมนุษย์มาจากไหน
กรดยูริกเป็นสารที่เกิดจากขบวนการเผาผลาญเซลล์ในร่างกาย กรดยูริกในร่างกายมนุษย์ มาจาก 2 แหล่ง คือ
1. จากการสลายเซลล์ที่มีนิวเคลียส (ซึ่งมีสารพิวรีนเป็นส่วนประกอบ) แล้วถูกเปลี่ยนเป็นกรดยูริกในร่างกาย ซึ่ง 2 ใน 3 ของกรดยูริกในร่างกายเกิดจากสาเหตุนี้
2. จากอาหารที่รับประทานที่มีสารพิวรีนสูง เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยอดผัก หน่อไม้ ถั่ว เครื่องในสัตว์ สัตว์ปีก อาหารทะเล ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียง 1 ใน 3 ของสารพิวรีนที่ทำให้เกิดกรดยูริกที่ร่างกายสร้างขึ้น เพราะฉะนั้น อาหารจึงเป็นส่วนประกอบที่กระตุ้นทำให้เกิดโรคเกาต์ แต่ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคเกาต์

การสร้างและทำลายกรดยูริกในร่างกาย
กรดยูริกในร่างกายจะถูกขับออก 2 ทาง คือ ทางปัสสาวะ คิดเป็นปริมาณ 2 ใน 3 ของกรดยูริกในร่างกาย ในขณะที่การขับออกทางระบบทางเดินอาหาร เป็นเพียง 1 ใน 3 ของปริมาณกรดยูริกทั้งหมด ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาทางไตจึงทำให้การขับกรดยูริกออกไม่ได้ ทำให้โรคเกาต์อาการรุนแรงยิ่งขึ้น

สาเหตุของการเกิดกรดยูริกในเลือดสูงเกิดจากอะไร
1. ปัจจัยทางพันธุกรรม มีความผิดปกติของยีนที่ควบคุมการขับกรดยูริกออกทางไต
2. มีการสร้างกรดยูริกเพิ่มขึ้น เช่นโรคมะเร็ง โรคสะเก็ดเงิน หรือรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง
3. มีการขับกรดยูริกออกจากร่างกายลดลง ได้แก่ ยาบางชนิด (ยารักษาวัณโรค หรือการทานยาแอสไพริน) ผู้ป่วยโรคไต การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคเกาต์ที่ดีที่สุด ทำอย่างไร
การเจาะน้ำไขข้อโดยจะสามารถตรวจพบผลึกเกลือยูเรต (เกลือที่เกิดจากการตกตะกอนของกรดยูริก) ในน้ำไขข้อขณะที่ข้อมีการอักเสบ ในลักษณะผลึกรูปเข็ม หากผู้ป่วยที่เป็นมานาน มีปุ่มก้อนเกาต์ตามข้อ ผิวหนัง ก็สามารถสะกิดปุ่มนั้นมาตรวจวินิจฉัย ในรายที่มาตรวจแต่ไม่มีข้ออักเสบขณะนั้น แพทย์อาจใช้เกณฑ์ในการวินิจฉัยเกาต์จากอาการทางคลินิก และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

โรคเกาต์มีการดำเนินโรคเป็นอย่างไร
– เริ่มแรกจะมีอาการข้ออักเสบเป็นๆ หายๆ ครั้งละไม่กี่ข้อ ข้ออักเสบจะรุนแรง ข้อบวม แดง และร้อน มีการย้ายตำแหน่งข้อไปเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการรักษา หรือรักษาไม่ถูกต้อง
– ต่อมาข้ออักเสบจะเป็นมากขึ้น ถี่ขึ้น หายช้า ข้อจะอักเสบหลายๆ ข้อ ทำให้ดูคล้ายโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
– ระยะท้าย จะเริ่มมีปุ่มก้อนเกาต์ (โทฟัส) ตามตัว ปุ่มเหล่านี้จะทำลายกระดูกและข้อ รวมทั้งมีปัญหาแทรกซ้อนในระบบอื่นๆ ที่สำคัญคือ ระบบไต และหัวใจ

จะรักษาโรคเกาต์ได้อย่างไร
“โรคเกาต์เป็นโรคข้ออักเสบเพียงไม่กี่โรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้” การรักษาประกอบไปด้วย
1. ปรับพฤติกรรม โดยหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลต่อการสร้างกรดยูริกในเลือด ส่งผลให้ไตขับกรดยูริกออกน้อยลง
2. หลีกเลี่ยง (ไม่ถึงกับงดหรือเลิก) อาหารที่มีสารพิวรีนสูง หรือรับประทานให้น้อยลง
3. รักษาโรคร่วม เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
4. ติดตามการรักษา โดยรับประทานยาให้สม่ำเสมอ ให้ระดับกรดยูริกอยู่ในระดับกว่าจุดอิ่มตัว (5 หรือ 6 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) แล้วแต่กรณี เพื่อให้กรดยูริกที่ตกตะกอนในร่างกายละลายออกไป โดยรับประทานติดต่อกันอย่างน้อย 5 ปี

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ศ.นพ.วรวิทย์ เลาห์เรณู
อาจารย์ประจำหน่วยโรคข้อและรูมาติสซั่ม
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.

เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แกลลอรี่