ฝุ่น PM2.5 ไม่ได้หายไปไหน

18 สิงหาคม 2564

คณะวิทยาศาสตร์

          ไม่แปลกใจหากจะกล่าวว่าในช่วงฤดูแล้งของทุกปี มลพิษ PM2.5 บริเวณนอกเมืองจะสูงกว่าในเมือง อันเนื่องมาจากการเผาในที่โล่งจำนวนมาก แต่หากเป็นช่วงนอกฤดูกาลเผา มลพิษทางอากาศยังจะอยู่กับเราหรือไม่? และถ้าหากยังอยู่ เราจะหลีกเลี่ยงได้อย่างไร

คณะผู้วิจัย นำโดย รศ.ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการติดตามคุณภาพและเปรียบเทียบคุณภาพอากาศระหว่างพื้นที่ในเมือง (เชียงใหม่ และลำปาง) กับพื้นที่นอกเมือง (เชียงดาว และแม่สะเรียง) เป็นระยะเวลา 1 ปี (พ.ศ. 2562) พบว่าในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งมีการเผาในที่โล่งจำนวนมากนั้น จะมีมลพิษ PM2.5 ในบริเวณนอกเมืองสูงกว่าในเมือง แต่อาจมีบางบริเวณในพื้นที่เมือง ที่มีปริมาณฝุ่นสูงไม่แพ้กัน เพราะมีแหล่งกำเนิดทั้งจากการเผาในที่โล่ง และจากการจราจร ทั้งนี้ หากเป็นช่วงนอกฤดูกาลเผา จะพบมลพิษในเมืองมากกว่านอกเมือง โดยเฉพาะบริเวณที่ใกล้แหล่งจราจร ดังนั้น แม้ว่าจะอยู่นอกฤดูเผาก็ตาม ผู้ที่มีความไวต่อมลพิษทางอากาศ ไม่ควรละเลยการการป้องกันตนที่ถูกต้อง เพื่อลดการสัมผัสกับมลพิษให้น้อยที่สุด เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ

นอกจากนี้ การศึกษาดังกล่าว ยังพบสารประกอบที่สามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้อายุของฝุ่น PM2.5 ที่มาจากการเผาชีวมวล ว่าเป็นฝุ่นใหม่ (fresh) หรือเป็นฝุ่นเก่า (aged) ที่แขวนลอยในอากาศนานแล้ว โดยมีสารบ่งชี้ที่สำคัญ เช่น โพแทสเซียมคลอไรด์ (KCl) ในฝุ่นใหม่ และโพแทสเซียมไนเตรท (KNO3) ในฝุ่นเก่า ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการประเมินขั้นต่อไปว่าฝุ่นนั้นเกิดจากกิจกรรมในพื้นที่ (local) หรือมาจากแหล่งกำเนิดที่ไกลออกไป (long range) หรืออาจจะถูกขังไว้ในพื้นที่เป็นเวลานานเนื่องด้วยปัจจัยทางกายภาพ หรือสภาวะทางอุตุนิยมวิทยาที่เอื้อต่อการกักตัวของมลพิษ

บทความนี้อาจจะยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากยังขาดการวิเคราะห์สารกลุ่มอื่น ๆ ในการยืนยันแหล่งกำเนิด ซึ่งถ้ามีการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีที่ครบถ้วนมากขึ้นในอนาคต จะสามารถคำนวณหาสัดส่วนของฝุ่นที่มาจากจราจร ฝุ่นเก่าที่ค้างอยู่ในอากาศ และฝุ่นที่มาจากการเผาชีวมวลได้ละเอียดยิ่งขึ้นโดยใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้สามารถใช้ทำความเข้าใจกระบวนการการเกิดมลพิษทางอากาศในพื้นที่ภาคเหนือได้ นำไปสู่การจัดการแก้ปัญหาหมอกควันในระยะยาว

*งานวิจัยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ปริญญาโท สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ของนายสรณะ จรรย์สืบศรี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกสว.) สัญญาเลขที่ RDG61A0031 และได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Chemosphere, Impact Factor = 7.086 Q1 and Top 5 in Environmental Science

Reference: Sarana Chansuebsri, Pavidarin Kraisitnitikul, Wan Wiriya, Somporn Chantara, Fresh and aged PM2.5 and their ion composition in rural and urban atmospheres of Northern Thailand in relation to source identification, Chemosphere, Volume 286, Part 2, 2022, 131803, ISSN 0045-6535, https://doi.org/10.1016/j.chemosphere.2021.131803.

อ่านงานวิจัยเพิ่มเติม https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S004565352102275X?dgcid=author 

#CMU #ChiangMaiUniversity #มช #มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน #CMUSDGs #CMUSDG3 #CMUSDG9  #CMUSDG11 #CMUSDG13 

แกลลอรี่