ฝุ่น PM2.5 และ โรคCOVID-19 สัมพันธ์กันอย่างไร?

1 เมษายน 2565

คณะแพทยศาสตร์

        ฝุ่นจิ๋วที่สร้างความเสียหายมหาศาลคือฝุ่นละอองขนาดจิ๋วขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เทียบขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ แต่ถ้าฝุ่นนี้มีปริมาณสูงมากในอากาศร่วมกับความชื้นในอากาศ จะทำให้มองดูคล้ายกับมีม่านหมอกควันในช่วงฤดูแล้ง สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเผาซากอุตสาหกรรมเกษตร (ข้าว ข้าวโพด อ้อย)ในที่โล่งแทบทุกภาคของประเทศ (ยกเว้นภาคใต้ตอนล่าง) รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนภาคเหนือตอนบนมีสาเหตุมาจากไฟในป่าร่วมด้วย นอกจากนี้ยังได้รับฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ข้ามพรมแดนจากการเผาซากอุตสาหกรรมเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านผสมโรงด้วยเช่นกัน ส่วนฝุ่นจิ๋วPM2.5ที่เกิดจากการสันดาปของยานยนต์ ปากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม มีส่วนร่วมอยู่ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่นหรือในเขตเมืองอุตสาหกรรมหนัก แต่ไม่ใช่เป็นสาเหตุหลักในช่วงฤดูแล้ง

        ด้วยขนาดฝุ่นจิ๋วPM2.5 ที่เล็กมาก เล็กจนสามารถลอดผ่านการกรองของขนจมูกเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนบนลงไปยังหลอดลม ถุงลมปอด และสามารถซึมผ่านผนังเส้นเลือดฝอยเข้าสู่กระแสเลือดแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมายหลายระบบอวัยวะ ส่วนจะเกิดอะไรขึ้น ขึ้นกับปัจจัยส่วนบุคคล (พันธุกรรม อายุ ความแข็งแรง การมีโรคเรื้อรังร่วมด้วย สภาพแวดล้อม) ระดับความเข้มข้นของPM2.5 และระยะเวลาที่สูด ผลกระทบจึงมีทั้งแบบระยะเฉียบพลัน (ในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงถึงสัปดาห์) ระยะกึ่งเฉียบพลัน (ในระยะเวลาเป็นเดือนถึงหลายเดือน) และระยะเรื้อรัง (ในระยะเวลาเป็นปีถึงหลายปีหรือชั่วอายุขัย)

       ในระยะเฉียบพลันและกึ่งเฉียบพลันระบบที่มีผลกระทบได้รวดเร็วและบ่อยที่สุด คือระบบทางเดินหายใจ เมื่อหายใจเอาฝุ่นPM2.5เข้าไป จะรู้สึกแสบจมูก ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ ทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่างอักเสบ เช่น (โพรงจมูก, โพรงไซนัส, คอ, กล่องเสียง, หลอดลม, และปอด มีการอักเสบ) จากฝุ่นจิ๋วPM2.5 และมักถูกผสมโรงด้วยการติดเชื้อซ้ำเติมทั้งเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย เนื่องจากฝุ่นPM2.5 ทำให้ระบบภูมิต้านทานของร่างกายอ่อนแอลงทั้งภูมิต้านทานด่านหน้า (ภูมิต้านทานของเยื่อบุระบบการหายใจ) และภูมิต้านทานด่านหลัง (ภูมิต้านทานผ่านระบบภูมิคุ้มกันในน้ำเหลืองและภูมิต้านทานระบบเซลล์) ทำให้ติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียตามมาได้ง่าย เกิดการอักเสบรุนแรงกว่าผู้ที่มีการติดเชื้อเพียงอย่างเดียวในสภาพอากาศที่สะอาดไม่มีฝุ่นจิ๋วPM2.5 มาเกี่ยวข้อง
ในช่วงสองปีที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ไปทั่วโลก มีผลงานวิจัยหลายชิ้นในหลายประเทศค้นพบความเชื่อมโยงระหว่าง ฝุ่น PM 2.5 กับการติดเชื้อไวรัส COVID-19 แสดงให้เห็นว่า แม้คนสุขภาพดี เมื่อหายใจสูด PM 2.5 ที่เข้มข้นเข้าไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ภูมิต้านทานด่านหน้าคือทางเดินหายใจและถุงลมในปอดอ่อนแอลง ภูมิต้านทานผ่านระบบน้ำเหลืองและระบบเซลล์(ซึ่งเปรียบเสมือนภูมิต้านทานด่านหลัง)อ่อนแอลงไปด้วย ทำให้สามารถติดเชื้อไวรัสได้ง่ายขึ้น เชื้อไวรัสจึงสามารถเข้าไปเพิ่มปริมาณในปอดได้มากขึ้น และทำให้ทวีความรุนแรงของปอดอักเสบมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีค่ามลพิษPM2.5ในอากาศสูงอย่างต่อเนื่องยิ่งทำให้ได้รับผลกระทบ จาก COVID-19 สูงขึ้นได้หลายเท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่อาศัยในชุมชนที่มีมลพิษต่ำ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 และ COVID-19 มีส่วนสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ

       นอกจากผลกระทบในระยะเฉียบพลันและกึ่งเฉียบพลันต่อระบบการหายใจแล้ว มลพิษฝุ่นจิ๋วPM2.5 ยังทำให้มีผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน(stroke) เพิ่มขึ้น ในระยะยาวผ่านไปหลายปี มีผลทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหลอดเลือดหัวใจตีบแคบ, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคภูมิแพ้ของระบบการหายใจ (เช่น ภูมิแพ้โพรงจมูก หอบหืด), โรคภูมิแพ้ผิวหนัง เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบไปถึงการเจ็บป่วยเรื้อรังที่ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง เสี่ยงต่อการเกิดอาการกำเริบของโรคจนต้องเข้ารับการรักษาแบบฉุกเฉินหรือต้องนอนโรงพยาบาล และทำให้มีอัตราการเสียชีวิตรายวันที่เพิ่มสูงขึ้นส่วนในระยะยาวโรคต่างๆ เหล่านี้ย่อมทำให้อายุขัยของประชากรสั้นลงกว่าที่ควร
เพื่อป้องกันตัวเองจากฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ทุกคนควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง พร้อมกับรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นติดตามค่าดัชนีคุณภาพอากาศในบริเวณที่ตนเองอยู่อาศัย หากอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน อาจต้องลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง พยายามอยู่ภายในอาคาร หรือห้องที่มีการกรองอากาศก่อนเข้าตัวอาคาร หรืออาคารหรือห้องที่มีเครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองประสิทธิภาพสูง

      (HEPA filter) ที่สามารถกรองฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ให้มีค่าต่ำที่สุด (เช่น 0-10 มคก./ลบ.ม) ซึ่งสามารถวัดค่าภายในห้องหรืออาคารที่ไม่มีความชื้นอากาศมากเกินไป โดยใช้เครื่องวัดราคาต่ำได้ซึ่งเชื่อถือได้ดีพอสมควรอาศัยเป้นแนวทางได้ดีกว่าอิงค่าเครื่องวัดมาตรฐานที่อยู่ห่างไกลที่อยู่อาศัยหลายกิโลเมตรซึ่งไม่สามารถสะท้อนค่าฝุ่นจิ๋วPM2.5ในอาคารหรือในห้องได้ นอกจากนี้อาคารหรือห้องขนาดย่อมที่ที่มีผู้ใช้งานหลายคนเช่นห้องเรียนห้องประชุมสัมมนา ห้องอาหาร ห้องสันทนาการในบ้านหรือในที่ทำงาน ควรมีการถ่ายเทหรือการไหลเวียนของอากาศที่เพียงพอ(4-6ACH,Air Chang per Hour)จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไวรัสCOVID-19และไวรัสชนิดอื่นๆ ที่มีการติดเชื้อในทางเดินหายใจ เมื่อต้องอยู่นอกอาคารหรือพื้นที่สาธารณะควรสวมหน้ากากN95ซึ่งสามารถป้องกันได้ทั้งเชื้อไวรัสCOVID-19 เชื้อไวรัสอื่นๆ เชื้อแบคทีเรียและฝุ่นจิ๋วPM2.5ไปพร้อมกัน ซึ่งลักษณะของหน้ากาก N95 จะครอบลงไปที่ปากและจมูกอย่างมิดชิดทำให้ละอองฝอย(droplet,ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง50-100ไมครอน)ที่มีเชื้อไวรัสไม่สามารถเล็ดลอดผ่านรอยช่องว่างระหว่างโครงใบหน้ากับหน้ากากได้ และใยกรองของหน้ากากมีประสิทธิภาพสูงในการกรองละอองฝอยขนาดจิ๋ว (aerosol,ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง<5ไมครอน) ที่มีเชื้อไวรัสกว่าหน้ากากอนามัยทั่วไป (surgical mask)

        ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าการแพร่เชื้อไวรัส COVID-19สามารถแพร่ได้ทั้งแบบละอองฝอย (droplet) เมื่อผู้แพร่เชื้อไอจามหรือพูดดคุยอยู่ใกล้ชิด และแบบละอองจิ๋ว (aerosol) แม้ผู้แพร่เชื้ออยู่ห่างหลายเมตรหรือแม้ผู้แพร่เชื้อออกไปจากห้องนั้นแล้วหลายชั่วโมงก็ตามเชื้อในละอองจิ๋วยัง แขวนลอยในห้องหรือในลิฟท์น้ันได้อยู่ นอกจากนี้ควรถือโอกาสงดสูบบุรี่ เพราะควันบุหรี่เองก็เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นแหล่งกาเนิดของฝุ่นจิ๋วPM2.5ในครัวเรือน

       สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง หรือโรคระบบหายใจเรื้อรัง เช่น หอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ควรหมั่นสังเกตอาการของตนเอง และรับประทานยาหรือสูดยาตามแพทย์แนะนำและสอบถามแพทย์ถึงแผนการดูแลตนเองเบื้องต้นหากมีอาการทรุดลง พบว่าตนเองและผู้ใกล้ชิดมีปัญหาด้านสุขภาพในช่วงที่มีฝุ่นพิษสูง ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและวางแผนทำการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ข้อมูลโดย ศ.นพ. ชายชาญ โพธิรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.


ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#PM25 #COVID19
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU

แกลลอรี่