5 สถาบัน ลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยเพื่อสร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมสภาพนำยวดยิ่งและระบบซอฟต์แวร์

11 กุมภาพันธ์ 2563

คณะวิทยาศาสตร์

              ศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้บริหาร มช. ศาสตราจารย์ ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรานนท์ อนุกูล หัวหน้าโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยเทคโนโลยีควอนตัม คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อสร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมสภาพนำยวดยิ่ง (Superconducting Quantum Computer) และระบบซอฟต์แวร์ โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธาน พร้อมกันนี้มีคณะผู้บริหารจาก 5 มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ที่ปรึกษาโครงการ นักวิจัย ร่วมเป็นเกียรติในพิธี นอกจากนี้ยังได้มีการประชุมทีมนักวิจัยสร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมแบบสภาพนำยวดยิ่งครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “National Challenge : Building a Functional Superconducting Quantum Computer.” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรานนท์ อนุกูล ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน (ชั้น 5) อาคารอุดมศึกษา 1 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563

การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางด้านวิจัยและวิชาการเพื่อสร้าง Superconducting Quantum Computer ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวที่สำคัญของทั้ง 5 สถาบัน ในการเปิดประตูสู่วิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ยุคสมัยของเทคโนโลยีควอนตัมที่จะทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม และเชื่อมโยงหลอมรวมองค์ความรู้ทางฟิสิกส์ วิศวกรรมศาสตร์ เข้ากับวิทยาศาสตร์อีกหลากหลายสาขา ซึ่งทั้ง 5 สถาบันจะได้ร่วมมือกันศึกษาวิจัยเพื่อสร้างเครื่องคำนวณควอนตัมแบบสภาพนำยวดยิ่ง โดยมีโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยเทคโนโลยีควอนตัม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นแกนหลัก เพื่อพัฒนางานวิจัยในสาขานี้ของประเทศให้ก้าวหน้าทัดเทียมและล้ำหน้านานาประเทศ อีกทั้งร่วมกันพัฒนาและผลิตบุคลากรในสาขาดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น โดยใช้การทำงานวิจัย ประชุม สัมมนาการฝึกอบรม และการสร้างหลักสูตรการศึกษาด้านเทคโนโลยีควอนตัม ตลอดจนร่วมกันสนับสนุนกำลังนักวิจัย วิศวกร สถานที่ทำการวิจัย ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและกิจกรรมวิชาการ รวมถึงหาแหล่งทุนภายนอกสนับสนุนงานวิจัยและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้งานวิจัยดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ จนสามารถร่วมมือกันสร้างเครื่องคำนวณควอนตัมแบบสภาพนำยวดยิ่งได้ในที่สุด
  
แกลลอรี่