ขอเชิญชวนสมัครรับเลือกตั้งและลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านระบบ CMU e-Vote

30 พฤษภาคม 2566

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

ขอเชิญชวนสมัครรับเลือกตั้งและลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านระบบ CMU e-Vote

สภามหาวิทยาลัย คือ องค์กรอะไร

สภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรสูงสุดที่กำหนดและกำกับนโยบาย ดูแลการบริหารจัดการให้เกิดการปฏิบัติตามนโยบายและพันธกิจของมหาวิทยาลัยอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล เป็นสภาผู้กำกับ (Governing Board) ที่พิทักษ์ธรรมาภิบาล (Good Governance) เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีการบริหารและการจัดการที่ดีตามระบบคุณธรรม มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ โดย “สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2551 ประกอบด้วยนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง โดยการเลือกจากตัวแทนผู้บริหาร และโดยการเลือกตั้งจากตัวแทนบุคลากร รวมทั้งหมด 27 คน เพื่อเป็นองค์คณะในการกำกับดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามอำนาจและหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ไว้

บทบาทหน้าที่ของกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มาจากการเลือกตั้ง

กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มาจากการเลือกตั้ง ถือเป็นตัวแทนของบุคลากรหรือพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งปวงในการเข้ามาทำหน้าที่ให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ สะท้อนปัญหา และให้ข้อมูลด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยและส่วนงาน เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจในเชิงนโยบายให้กับสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีบทบาทหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งในการร่วมกำหนดนโยบายและอนุมัติแผนพัฒนาการศึกษาฯ อนุมัติงบประมาณรายรับ-รายจ่าย การวางกฎระเบียบ/ข้อบังคับ การพิจารณาจัดตั้ง/การรวม/การยุบเลิกส่วนงานของมหาวิทยาลัย การเปิดสอน/ปิดสอนหลักสูตร การอนุมัติให้ปริญญา การติดตามประเมินผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย และภารกิจอื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งการได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการในชุดต่าง ๆ ระดับมหาวิทยาลัย เพื่อเข้าร่วมดำเนินการและขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยในฐานะตัวแทนของบุคลากรโดยรวมด้วย


การเลือกตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. ประเภทคณาจารย์ประจำ จำนวน 3 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มสาขาวิชาละ 1 คน คือ
- กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
- กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
2. ประเภทพนักงานมหาวิทยาลัยที่มิใช่คณาจารย์ประจำ (ผู้ปฏิบัติงานสายปฏิบัติการและนักวิจัย) จำนวน 1 คน


คุณสมบัติของผู้สมัคร

1. ประเภทคณาจารย์ประจำ
- เป็นข้าราชการหรือเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยประจำ
- เป็นคณาจารย์ประจำ
- ทำการสอนในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันที่มีการลงคะแนนเลือกตั้ง
- มีอายุไม่น้อยกว่า 35 ปี
- คุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาโท
- มีตำแหน่งทางวิชาการไม่ต่ำกว่าผู้ช่วยศาสตราจารย์
- ไม่ดำรงตำแหน่งบริหารตั้งแต่ระดับผู้ช่วยหัวหน้าส่วนงานขึ้นไป
- ไม่ดำรงตำแหน่งประธานสภาพนักงานหรือรองประธานสภาพนักงาน
- ไม่เป็นผู้ที่เคยถูกลงโทษทางวินัยหรือกำลังถูกดำเนินการทางวินัย
- ไม่เป็นผู้มีประวัติด่างพร้อยหรือมลทินมัวหมอง
- ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง/ตำแหน่งในพรรคการเมือง/กลุ่มการเมืองท้องถิ่น

2. ประเภทพนักงานมหาวิทยาลัยที่มิใช่คณาจารย์ประจำ (ผู้ปฏิบัติงานสายปฏิบัติการและนักวิจัย)
- เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยประจำที่มิใช่คณาจารย์ประจำในสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ปฏิบัติงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันบรรจุหรือจ้าง ถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
- มีอายุไม่น้อยกว่า 35 ปี
- คุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาโท
- ไม่ดำรงตำแหน่งบริหารตั้งแต่ระดับผู้ช่วยหัวหน้าส่วนงานขึ้นไป
- ไม่ดำรงตำแหน่งประธานสภาพนักงานหรือรองประธานสภาพนักงาน
- ไม่เป็นผู้ที่เคยถูกลงโทษทางวินัยหรือกำลังถูกดำเนินการทางวินัย
- ไม่เป็นผู้มีประวัติด่างพร้อยหรือมลทินมัวหมอง
- ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง/ตำแหน่งในพรรคการเมือง/กลุ่มการเมืองท้องถิ่น


คุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
1. ประเภทคณาจารย์ประจำ
- ต้องเป็นคณาจารย์ประจำ (ข้าราชการหรือพนักงานมหาวิทยาลัยประจำ) ที่ผ่านการประเมินการทดลองปฏิบัติ
หน้าที่แล้ว
- ต้องปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี นับแต่วันบรรจุหรือจ้างถึงวันใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง
2. ประเภทพนักงานมหาวิทยาลัยที่มิใช่คณาจารย์ประจำ
- ต้องเป็นข้าราชการหรือพนักงานมหาวิทยาลัยประจำที่มิใช่คณาจารย์ประจำ รวมถึงนักวิจัยด้วย
- ต้องผ่านการประเมินการทดลองปฏิบัติหน้าที่แล้ว
- ต้องปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี นับแต่วันบรรจุหรือจ้างถึงวันใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

กำหนดการเลือกตั้งผ่านระบบ CMU e-Vote
• สมัครรับเลือกตั้งในระบบ วันที่ 1 – 23 มิถุนายน 2566
• ประกาศรายชื่อและหมายเลขผู้สมัคร วันที่ 7 กรกฎาคม 2566
• ตรวจสอบสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง วันที่ 5 – 25 กรกฎาคม 2566
• ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง วันอังคารที่ 25 กรกฎาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 00.01 – 16.00 น.
รายละเอียดเพิ่มเติม ดูรายละเอียดได้ที่ https://evote.cmu.ac.th และ https://council.cmu.ac.th/election-2566 (สำนักงานสภามหาวิทยาลัย)

กำหนดการเลือกตั้งผ่านระบบ CMU e-Vote

  • สมัครรับเลือกตั้งในระบบ วันที่ 1 – 23 มิถุนายน 2566
  • ประกาศรายชื่อและหมายเลขผู้สมัคร วันที่ 7 กรกฎาคม 2566
  • ตรวจสอบสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง วันที่ 5 – 25 กรกฎาคม 2566
  • ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง วันอังคารที่ 25 กรกฎาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 00.01 – 16.00 น.

รายละเอียดเพิ่มเติม ดูรายละเอียดได้ที่ https://evote.cmu.ac.th และ https://council.cmu.ac.th/election-2566 (สำนักงานสภามหาวิทยาลัย)


มาเป็นพลังสำคัญ สร้างสรรค์และพัฒนามหาวิทยาลัยผ่านการเลือกตั้ง

แกลลอรี่