นักวิจัยคณะวิทย์ มช. ร่วมกับ NARIT พัฒนาการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) ให้รู้จำและจำแนกประเภทของกระจุกดาวทรงกลมนอกกาแล็กซีทางช้างเผือก จากภาพถ่ายดาราศาสตร์จำนวนมหาศาล

5 ตุลาคม 2565

คณะวิทยาศาสตร์

            คณะนักวิจัยภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ นายธเนศ สิงห์ลอ อ.ดร.ประภาพร เตชอังกูร และ ผศ.ดร.จักรเมธ บุตรกระจ่าง ร่วมกับนักวิจัยจากสถาบันดาราศาสตร์ (องค์การมหาชน) ได้แก่ ดร.ชุติพงศ์ สุวรรณจักร และ ดร.นหทัย ตนะกุล ได้ทำการพัฒนาขั้นตอนวิธีทางการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) เพื่อฝึกสอนให้เครื่องสามารถรู้จำและจำแนกประเภทของกระจุกดาวทรงกลมที่อยู่นอกกาแล็กซีทางช้างเผือกจากภาพถ่ายทางดาราศาสตร์จำนวนมหาศาลที่ได้จากกล้องโทรทัศน์

ผลลัพธ์จากงานวิจัย ทำให้ได้กระบวนวิธีในการจำแนกกระจุกดาวทรงกลมที่อยู่นอกกาแล็กซีทางช้างเผือกจากภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ และได้ Catalog ของ globular cluster candidates ด้วยวิธีการเรียนรู้ของเครื่อง ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำงานสามารถลดเวลาในการดำเนินงานได้อย่างมากเมื่อเทียบกับวิธีดั้งเดิม

ทั้งนี้ กระจุกดาวทรงกลม เป็นวัตถุทางดาราศาสตร์ประเภทหนึ่ง ที่สามารถใช้ในการศึกษาวิวัฒนาการของกาแล็กซีได้ การระบุกระจุกดาวทรงกลมในกาแล็กซีต่างๆ จึงมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจกาแล็กซีเหล่านั้นในข้อมูลทางดาราศาสตร์จำนวนมากในปัจจุบัน การนำเทคนิคทาง machine learning มาใช้ในการระบุกระจุกดาวทรงกลม จึงสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ และลดการใช้ทรัพยากรบุคคลในขั้นตอนการวิจัยได้

ผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ที่ The 19th International Conference on Electrical Engineering/Electronics, Computer, Telecommunications and Information Technology (ECTI-CON), 2022 

Published: 24-27 May 2022
DOI: 10.1109/ECTI-CON54298.2022.9795384

อ่านงานวิจัยที่ https://ieeexplore.ieee.org/document/9795384 

แกลลอรี่