นักวิจัยคณะวิทย์ มช. ร่วมกับนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ศึกษาและรายงานข้อมูลเชิงลึกของรา 40 สกุล ที่มีความหลากหลาย มากที่สุดในโลก พบราชนิดใหม่ เพิ่มประชากรราในฐานข้อมูลของไทยและของโลก

2 มิถุนายน 2565

คณะวิทยาศาสตร์

จำนวนชนิดของรา: ในสกุลที่ศึกษามีความหลากหลายอย่างแท้จริงหรือไม่?

          นักวิจัยศูนย์ด้านความหลากหลายของจุลินทรีย์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร.สายสมร ลำยอง ร่วมกับ นักวิจัยในโครงการ Visiting Professor มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Emeritus Prof. Dr. Kevin D. Hyde และนักวิจัยสังกัดสำนักงานบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.นครินทร์ สุวรรณราช และ ดร.จตุรงค์ คำหล้า ได้ทำการศึกษาวิจัยจำนวนชนิดของราว่าในสกุลที่ศึกษามีความหลากหลายอย่างแท้จริงหรือไม่? อีกทั้งยังได้ร่วมมือกับนักวิจัยด้านราวิทยาในประเทศไทยคือ ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านการวิจัยเชื้อรา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และนักวิจัยด้านราที่เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ได้แก่ประเทศ สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐฝรั่งเศส และ สาธารณรัฐมาดากัสการ์ ในการร่วมตรวจสอบ และสรุปข้อมูลเชิงลึกครั้งนี้

ในบทความนี้ ทีมวิจัยได้ให้ข้อมูลเชิงลึกของรา 40 สกุล ที่มีอันดับสูงสุด และมีรายงานการค้นพบในโลก ตามที่ระบุไว้ในฐานข้อมูลโลก Species Fungorum (ปี ค.ศ. 2021) ซึ่งราในสกุลที่ศึกษาเหล่านี้บางชนิดมีลักษณะเฉพาะ และบางชนิดมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ การศึกษานี้เพื่อตอบคำถาม: สกุลที่ทีมวิจัยเลือกศึกษามีความหลากหลายอย่างแท้จริงหรือไม่? โดยผลการศึกษามีคำตอบ ว่าใช่ ราสกุลที่ทีมวิจัยได้ศึกษา สามารถพบได้จากโฮสต์ที่หลากหลาย และมีรูปแบบการดำรงชีวิตที่แตกต่างกัน ซึ่งบางชนิดมีความจำเพาะเจาะจงกับโฮสต์ อีกทั้งยังสามารถอธิบายถึงความหลากหลายของชนิดได้ การค้นพบชนิดใหม่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามทีมวิจัยยังคงรอการค้นพบราจากแหล่งตัวอย่างที่ยังไม่เคยศึกษา และรายงานก่อนหน้านี้ในโลก

โดยทีมวิจัยได้รายงานราชนิดใหม่จำนวน 18 ชนิด Apiospora multiloculata, Candolleomyces thailandensis, Cortinarius acutoproximus, Cortinarius melleoalbus, Cortinarius pacifcus, Cortinarius parvoacetosus, Diaporthe guizhouensis, Entoloma pseudosubcorvinum, Inocybe meirensongia, Marasmius albulus, Marasmius obscuroaurantiacus, Meliola camporesii, Phyllachora siamensis, Phyllosticta doitungensis, Picipes yuxiensis, Pseudocercospora vignae, Puccinia maureanui และ Russula inornata รวมถึงการรายงานราสกุล Candolleomyces ครั้งแรกในประเทศไทย

จากงานวิจัยดังกล่าวมีความสำคัญต่อระบบนิเวศวิทยาของรา ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่สำคัญในการหมุนเวียนสารสารอาหารและองค์ประกอบคาร์บอนในธรรมชาติให้เกิดความสมดุล และการรายงานครั้งนี้ยังเป็นการเพิ่มชนิดประชากรของราให้กับฐานข้อมูลในประเทศไทย และฐานข้อมูลโลก ซึ่งราที่พบสามารถนำมาต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ด้านการเกษตร อาหาร และทางการแพทย์ในอนาคต ซึ่งเกี่ยวข้องกับ SDGs 2,12,15 ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นกลไกลหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และโลกให้มีความยั่งยืน บนฐานการใช้ประโยชน์ด้านทรัพยากรทางชีวภาพจุลินทรีย์

งานวิจัยถูกตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ Fungal Diversity ในปี 2022 ฐานข้อมูล ISI/Scopus, Impact Factor 20.372 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 1 ของสาขาราวิทยา (Top 1% Category Mycology)

ผู้ที่สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://link.springer.com/article/10.1007/s13225-022-00501-4