รางวัลผู้บริหารดีเด่น … รางวัลของผู้มอบ “โอกาส” และ “ผู้ร่วมกระบวนการเรียนรู้”

2 มกราคม 2563

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

กองทุนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มอบรางวัลผู้บริหารดีเด่น ประจำปี 2562 จำนวน 2 รางวัล หนึ่งในผู้ได้รับรางวัล คือ รองศาสตราจารย์ ดร.อาวรณ์ โอภาสพัฒนกิจ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รองศาสตราจารย์ ดร. อาวรณ์ กล่าวอย่างภาคภูมิใจ ว่า “การที่ได้รับรางวัลผู้บริหารดีเด่นอันทรงเกียรตินี้ เป็นเพราะโอกาสที่ได้รับ มาตลอดชีวิต โอกาสจากแม่ผู้ให้ จากผู้ใหญ่ใจดีที่คอย coach อย่างต่อเนื่อง จากผู้บริหารระดับคณะ/ส่วนงานที่อนุญาตให้บุคลากรมาร่วมเป็นกรรมการทั้ง 5 ชุด จากนักวิจัยชุมชน จากน้อง-พี-เพื่อนนักวิชาการรับใช้สังคมทั้งใน มช. และมหาวิทยาลัยเครือข่าย จากภาคีที่เป็นหุ้นส่วนในประเทศ ในอาเซียน-นานาชาติ และจากทีมงานหน่วยสนับสนุนวิชาการรับใช้สังคม”  ในโอกาสที่ได้รับเชิญ เป็น 1 ใน 8 ของ “Public engagement withness and speakers” ในการประชุม 2019 Engage Conference: Disruption ของ The National Co-ordinating Centre for Public Engagement (NCCPE) ของประเทศสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม 2562 ณ เมือง Bristol รองฯอาวรณ์ ได้แลกเปลี่ยนกับที่ประชุม ใจความตอนหนึ่งว่า


… I come from a rural village in Lamphun Province, northern Thailand. My childhood was difficult. My mother had to sell part of her rice land, allowing me to be an undergradulate student at Chiang Mai University in 1978. Since then, I have realized the importance of creating “opportunity for the poor”. Thanks to my mother for her great decision. …

ถ้า แม่บัวคำ ไม่ได้ให้โอกาสเมื่อปี 2521 ก็อาจจะไม่มีนักบริหารดีเด่นที่ชื่ออาวรณ์ในปีนี้ เพราะการเป็นนักศึกษา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้ได้รับโอกาสมากมายจากครูอาจารย์ และ ทำให้มีโอกาสได้เฝ้ารับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 ณ ห้วยฮ่องไคร้ ซึ่งเป็นการจุดประกาย ให้อาจารย์บรรจุใหม่คนนี้ ให้เห็นคุณค่าและความสุขจากการทำงานเสริมพลังชาวบ้านที่ด้อยโอกาส


33 ปีต่อมา รองศาสตราจารย์ ดร. อาวรณ์ ได้รับแต่งตั้ง เป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ นับเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ได้รับจาก ศาสตราจารย์ ดร. พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อดีตอธิการบดี ซึ่งความมั่นใจในการรับตำแหน่งครั้งนั้น มาจาก “โอกาส” ที่ได้ฝึกฝนตนเอง ในบทบาทผู้ประสานงานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ของ สกว. ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ซึ่งริเริ่มและ coach โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง ประสบการณ์ 14 ปี ของการหนุนชาวบ้านให้สามารถเสริมพลังตนเองด้วยเครื่องมือวิจัยเพื่อท้องถิ่น ทำให้มั่นใจว่า อาจารย์มหาวิทยาลัย ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ด้วย “ความรู้วิชาการและนวัตกรรม”

ปัจจุบัน รองศาสตราจารย์ ดร. อาวรณ์ ดำรงตำแหน่ง รองอธิการบดี รับผิดชอบยุทธศาสตร์ Service Excellence ตามวิสัยทัศน์ ของ มช. “รับผิดชอบต่อสังคม” นับเป็นอีกหนึ่งโอกาส ที่ได้รับจากศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ นิเวศน์ นันทจิต ท่านอธิการบดี

ในช่วง 7 ปีของการเป็น Senior Leader รองศาสตราจารย์ ดร. อาวรณ์ ตระหนักดีว่า “การทำงานเสริมพลัง (Empower) ชุมชนท้องถิ่น ตัวจริงเสียงจริง อยู่ที่คณะ/ส่วนงาน และ อยู่ที่ชุมชน” ดังนั้น จึงปรับใช้แนวทาง 4 ประการ ของ สมาคมพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม ได้แก่ ร่วมคิดร่วมทำแบบพันธมิตรและหุ้นส่วน (partnership) สร้างประโยชน์ร่วมกันแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย (mutual benefits) สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน และ สร้างผลงานวิชาการ (knowledge sharing and scholarship) เกิดผลกระทบต่อสังคมที่ประเมินได้ (measurable social impact)”

จึงได้ริเริ่มพัฒนาระบบสนับสนุนวิชาการรับใช้สังคม ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามแนวทาง 4 ข้อ เน้นการยกระดับ สร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม ของ “การบริการวิชาการ” ให้เป็น “พันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม (Societal Engagement)” โดยได้รับ “โอกาสและความไว้วางใจ” จากผู้บริหารคณะ/ส่วนงาน สนับสนุนให้คณาจารย์ นักวิจัย หัวหน้างาน พนักงานสายสนับสนุน มาร่วมเป็น “คณะกรรมการ 5 ชุด” ทำงานอย่างใกล้ชิด กับ “ทีมหนุน” ของหน่วยสนับสนุนวิชาการรับใช้สังคม ได้แก่
ก. คณะกรรมการพัฒนาฐานข้อมูลวิชาการรับใช้สังคม ทำให้โครงการบริการวิชาการ และโครงการวิชาการรับใช้สังคมทั้ง 4 ประเภทของคณาจารย์และนักวิจัย มช. ได้รับการบันทึกอย่างเป็นระบบ


ข. คณะกรรมการพัฒนาข้อเสนอโครงการที่มีผลกระทบสูง ทำให้เกิดระบบสนับสนุนงานวิจัยเชิงพื้นที่ (Area-based research) และ งานวิจัยเชิงประเด็น ที่เป็นปัญหาเร่งด่วนและท้าทายของพื้นที่ภาคเหนือตอนบน
ค. คณะกรรมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อสนับสนุนงานวิชาการรับใช้สังคม ได้พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม การพัฒนาข้อเสนอโครงการที่มีผลกระทบสูง การประเมินแบบเสริมพลัง และ หลักสูตร Community-based Research ฝึกอบรมให้เครือข่าย APUCEN ณ University Science Malaysia (USM) ประเทศมาเลเซีย
ง. คณะกรรมการสนับสนุนการเตรียมเอกสารวิชาการรับใช้สังคมเพื่อขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ทำให้ มช. เป็น First in Mind ด้านนี้ เป็นแหล่งเรียนรู้ของเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา ทั้งในประเทศไทยและอาเซียน


จ. คณะกรรมการรวบรวมผลงานวิชาการรับใช้สังคมและสื่อสารสาธารณะ เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างชื่อเสียงในระดับภูมิภาคเอเชียและระดับนานาชาติ รองศาสตราจารย์ ดร. อาวรณ์ เป็นตัวแทน มช. ได้รับเลือกเป็น Board Members ของ Council of the AsiaEngage และ APUCEN

ตลอดจน เป็นประธาน (Conference Chair) ดำเนินงานจัดการประชุมวิชาการระดับภูมิภาค The 4th AsiaEngage Regional Conference 2018 (AE2018) เรื่อง “Rising to the Challenge of SDGs in Asia through University-Community Engagement” 

ล่าสุด ได้รับความอนุเคราะห์จากนักวิชาการรับใช้สังคม ของ มช. 4 คน ไป “ปักหมุดใน Global Map” ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการประชุม The NCCPE Engage Conference ซึ่งได้รับการชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะตัวแทน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ประเทศไทย


จะเห็นว่า วิสัยทัศน์ ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ ในการบริหารงานวิชาการรับใช้สังคม ดังกล่าว เป็นผลลัพธ์ จากการ “ได้รับโอกาส” และ “การเรียนรู้ร่วมกัน” กับผู้บริหารระดับคณะ/ส่วนงาน คณาจารย์ นักวิจัย พนักงานสายสนับสนุน นักศึกษา ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ ชุมชนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ NGOs องค์กรธุรกิจเอกชน

ด้วย “การหนุนเสริมอย่างเต็มกำลังและต่อเนื่อง ของทีมงานคนรุ่นใหม่ของหน่วยสนับสนุนวิชาการรับใช้สังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ทำให้ “ค้นพบ” นักวิชาการรับใช้สังคม ของ มช. จำนวนมาก และ “ร่วมสร้าง” ผลงานวิชาการรับใช้สังคม ที่ทำให้ชุมชนท้องถิ่นเกิดความเข้มแข็ง ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ขอ ถือโอกาสนี้ ขอบพระคุณ “ผู้ให้โอกาส” และ “ผู้ร่วมกระบวนการเรียนรู้” ทุกท่าน

แกลลอรี่