55 ปี ก้าวสู่วิถี มช. “55 Years Towards CMU’s Next Step”

31 มกราคม 2563

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ นิเวศน์ นันทจิต
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
31 มกราคม 2563
งานเฉลิมฉลอง 55 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ยินดีต้อนรับทุกท่าน เข้าสู่งานเฉลิมฉลอง 55 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครับ

จากช่วงเวลาแห่งการเรียกร้องของชาวจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงที่ต้องการให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น มีการเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง เป็นการกระตุ้นรัฐบาลในสมัยนั้นให้พิจารณาขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาออกสู่ภูมิภาค แรงกระเพื่อมของความต้องการที่มากขึ้นและมากขึ้น ทำให้เกิดการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขึ้นอย่างเป็นทางการ ใน พ.ศ. 2507 โดย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยได้วางรากฐานอย่างมั่นคงเพื่อรองรับกับพัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นเรื่อยมา รวมทั้งเพื่อให้พร้อมในการเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ให้สามารถยืนหยัดในการเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทย ในการผลิตองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้แก่ ชุมชน และ สังคม อีกทั้ง การสร้างบัณฑิตชั้นแนวหน้า ที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม คุณภาพ ความรู้ ความสามารถ และพร้อมทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง

ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการมาอย่างเต็มภาคภูมิ ครบรอบ 55 ปี ในฐานะตัวแทนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอเชิญทุกท่าน ร่วมกันภาคภูมิใจ ในการเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง ของสถาบันการศึกษาอันทรงเกียรติแห่งนี้ โดยการหันกลับไปชื่นชมภาพพัฒนาการสำคัญๆ ในอดีต ยินดีไปกับพัฒนาการในปัจจุบัน และ ร่วมดื่มด่ำไปกับภาพอนาคตที่กำลังจะมาถึงไปพร้อมๆ กัน

  

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ตามโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค พ.ศ.2501  นับตั้งแต่มีการเรียกร้องให้ขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาออกสู่ภูมิภาค โดยขอให้รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 ในที่สุดการเรียกร้องก็สัมฤทธิ์ผลก่อให้เกิดความภูมิใจและดีใจเป็นอย่างยิ่งแก่ชาวล้านนา
- วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้น โดยกำหนดให้เปิดสอนในปีการศึกษา 2507 และให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการเตรียมการจัดตั้ง
-วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2507 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 81 ตอนที่ 7 ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2507 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ทศวรรษที่ 1 พ.ศ. 2507 - 2516 มุ่งสร้างพื้นฐานและพัฒนาการศึกษาตามปณิธาน

The First Decade (1964 -1973) Foundation and Development of Education

วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 วันเปิดเรียนวันแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

-วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างเป็นทางการ

  

จากนโยบายของรัฐและเจตนารมณ์ของประชาชนในภาคเหนือในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ในระยะเริ่มต้นจึงมุ่งการสร้างฐานอย่างมั่นคงรองรับการดำเนินงานตามภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย เริ่มสร้างบรรยากาศทัศนียภาพให้เหมาะสมกับการศึกษา พร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ และจัดตั้งคณะวิชาต่างๆ โดยในช่วงแรกของการดำเนินงาน ได้เปิดการเรียนการสอนในคณะพื้นฐาน 3 คณะ ได้แก่ คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ โดยมีนโยบายเปิดรับนักเรียนในเขตพัฒนาภาคเหนือ 17 จังหวัด จากนั้นได้จัดตั้งคณะวิชาและหน่วยงานต่างๆ ตามมา เพื่อรองรับการขยายตัวของมหาวิทยาลัย ได้แก่ -ปี 2507 จัดตั้ง คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ 

-ปี 2508 รับโอนคณะแพทยศาสตร์มาจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
-ปี 2510 จัดตั้งคณะเกษตรศาสตร์
-ปี 2511 จัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
-ปี 2513 จัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์
-ปี 2515 จัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ โดยยกฐานะมาจากภาควิชาในสังกัดคณะแพทยศาสตร์

   

พร้อมกันนี้ ได้มีการก่อสร้างอื่นๆ ที่สำคัญ อาทิ ศาลพระภูมิ ศาลาธรรม ประตูหน้ามหาวิทยาลัย สำนักงานอธิการบดี วิทยาลัยที่ 1 (หอพักชายอาคาร1) การประปา มช. ธนาคารออมสิน สาขาดอยสุเทพ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สหกรณ์ออมทรัพย์  นอกเหนือจากด้านการศึกษาแล้ว มหาวิทยาลัยยังได้ปลูกฝังการสร้างจิตสำนึกที่ดีให้แก่นักศึกษา โดยจัดกิจกรรมสานสัมพันธ์ด้วยประเพณีที่ดีงามและได้สืบสานมาตราบจนทุกวันนี้ เป็นเอกลักษณ์และความภูมิในความเป็นลูกช้าง มช. อาทิ ประเพณีนำนักศึกษาใหม่เดินขึ้นไปนมัสการพระบรมธาตุดอยสุเทพ หรือ รับน้องขึ้นดอย กิจกรรมรับน้องรถไฟ กิจกรรมชมรมจิตอาสา

ทศวรรษที่ 2 พ.ศ. 2517 – 2526 ขยายการศึกษา สร้างคุณค่ามหาวิทยาลัยแก่ชุมชนภาคเหนือ และประเทศชาติ

The Second Decade (1974-1983) Expansion of Education, and Provision of Benefits for Northern Community and the Country

  

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้พัฒนาขยายฐานการศึกษาเพิ่มขึ้น มีการเปิดสอนหลักสูตรสาขาวิชาใหม่ในระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้น 25 สาขาวิชา และ พ.ศ. 2519 เริ่มเปิดหลักสูตรปริญญาโทคณะวิทยาศาสตร์ รวม 7 สาขาวิชา รวมถึงได้จัดตั้งหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพเชิงวิชาการ ประกอบด้วย คณะเทคนิคการแพทย์ บัณฑิตวิทยาลัย และสำนักหอสมุด สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ สถาบันวิจัยสังคม สำนักบริการคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันคือ สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ และคณะวิจิตรศิลป์ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังมีความพร้อมด้านศักยภาพและความเชี่ยวชาญของบุคลากรในด้านการสาธารณสุข ขยายการบริการให้ครอบคลุมตามความต้องการของประชาชน อาทิ
- พ.ศ.2521 ก่อสร้างอาคารสุจิณโณ เพื่อรองรับการบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยเพิ่มขึ้น  และ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2528 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด อาคาร “สุจิณโณ”
- โครงการหน่วยทันตกรรมพระราชทาน คณะทันตแพทยศาสตร์ ให้บริการวิชาการด้านบำบัดรักษาทางทันตกรรมแก่ชุมชนจนถึงปัจจุบัน

ทศวรรษที่ 3 พ.ศ. 2527 – 2536 มุ่งมั่นพัฒนามาตรฐานคุณภาพการศึกษา

The Third Decade (1987-1993) Development of Educational Quality Standard

  

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งเน้นบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษา และพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ สร้างความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยที่ชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพและความพร้อมทางวิชาการ อาทิ
- มีการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาช่วยระบบการลงทะเบียน พัฒนาระบบลงทะเบียนล่วงหน้า และพัฒนาอย่างต่อเนื่องช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและรองรับการขยายงานด้านวิชาการ
- พัฒนาระบบงานสำนักหอสมุด เชื่อมโยงระบบ On-line บริการสืบค้นข้อมูลสารนิเทศด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อจัดหาข้อมูลสำเร็จรูปในรูปแบบ CD-ROM

ในทศวรรษที่ 3 มีการเปิดสอนระดับปริญญาโทรวม 42 สาขาวิชา และคณะวิทยาศาสตร์เปิดรับนักศึกษาปริญญาเอกครั้งแรก จำนวน 6 สาขาวิชา และมีการจัดตั้งหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักทะเบียนและประมวลผล สำนักบริการวิชาการ คณะบริหารธุรกิจ คณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ ศูนย์สตรีศึกษา และสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มีการสร้างหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หอศิลป์ปิ่นมาลา และศูนย์บริการเทคนิคการแพทย์คลินิก


ทศวรรษที่ 4 พ.ศ.2537 – 2546 พัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยมุ่งเน้นการวิจัย

The Fourth Decade (1994 - 2003) Development of a Research-Oriented University

  

ในช่วงทศวรรษที่ 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เสริมสร้างความเข้มแข็งในด้านการวิจัย มุ่งพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย ด้วยการสนับสนุนทรัพยากรเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตผลงานวิจัยคุณภาพในทุกสาขาวิชา นำผลงานวิจัย เผยแพร่สู่สาธารณชนเพื่อใช้ประโยชน์ สามารถผลิตผลงานวิจัยคุณภาพ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มีนักวิจัย นักวิชาการ และบุคลากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์คิดค้น ได้รางวัลจากองค์กรภายนอกมหาวิทยาลัย มากกว่า 30 รางวัล อาทิ
• ตัวอย่างรางวัลผลงานวิจัย จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
(ผลงานโรคติดเชื้อ Penicillium marneffei ในผู้ป่วยโรคเอดส์ : ลักษณะทางคลินิก การรักษาและการป้องกันการกลับเป็นอีก ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม ในปี 2543 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ)
(ผลงานวิวัฒนาการของการบุกเบิกที่ดินทำกินในเขตป่า กรณีศึกษาภาคเหนือตอนบน ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม ในปี พ.ศ. 2539 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ)
(ผลงานการพัฒนาชุดน้ำยาและเทคนิคการตรวจนับจำนวนเม็ดเลือดขาวลิมโฟซัยต์ ได้รับรางวัลชมเชย สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในปี 2546 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ)
• รางวัลทุนวิจัย จากมูลนิธิโทเร
(ผลงานการผลิตเนื้อสุกรเพศผู้ตอนเชิงพาณิชย์ เพื่อต่อต้านการใช้สารเร่งการสร้างเนื้อแดงต้องห้าม ได้รับรางวัลทุกวิจัยจากมูลนิธิโทเร)
• รางวัลมหิดลบีบราวน์
(ผลงานการคิดค้นวิธีให้บริการขาเทียมอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ได้รับรางวัลดีเยี่ยมด้านการแพทย์และสาธารณสุข สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในปี 2543 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และในปี 2544 ผลงานการประดิษฐ์ชิ้นส่วนขาเทียมด้วยวัสดุในประเทศ ได้รับรางวัลมหิดลบีบราวน์)

นอกจากนี้ยังได้มีการขยายพื้นที่การศึกษา โดยจัดตั้งศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดสมุทรสาคร และศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน มีการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ อาคารสงฆ์อาพาธสุจิตโต ศูนย์ศรีพัฒน์ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่เริ่มใช้รถไฟฟ้าวิ่งในระบบขนส่งมวลชน รับส่งนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย

ทศวรรษที่ 5 พ.ศ.2547 – 2556 มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความเป็นเลิศ

The Fifth Decade (2004 - 2013) To Be University of Excellence

  

ในช่วงทศวรรษนี้ มหาวิทยาลัยมีความพร้อมในการก้าวสู่บทบาทสำคัญของการพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความเป็นเลิศ (University of Excellence) เป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ มีระบบการบริหารจัดการที่มีดี และการพัฒนาสู่มาตรฐานโลก ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพเชิงวิชาการและการให้บริการชุมชน ประกอบด้วย คณะการสื่อสารมวลชน คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์


นอกจากนี้ได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศ 319 โครงการ เป็นโครงการที่ลงนามในระดับมหาวิทยาลัย 178 โครงการ และระดับคณะ 141 โครงการ โดยในทศวรรษนี้มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็ง เพื่อก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยอย่างยั่งยืน ได้สร้างกลไกกระตุ้น สร้างแรงจูงใจในการผลิตผลงานวิจัยเชิงคุณภาพในทุกสาขาวิชา เสริมสร้างบรรยากาศการวิจัย เกื้อกูลให้นักวิจัยมีความกระตือรือร้นในการผลิตผลงาน และเผยแพร่ผลงานวิจัยคุณภาพสู่การใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ โดยได้จัดงานวันวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นครั้งแรก เพื่อสร้างบรรยากาศทางวิชาการภายในมหาวิทยาลัย เกิดการวิจัยบูรณาการ รวมถึงมีการจัดทำรางวัลมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “ช้างทองคำ” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติแก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยที่มีผลงานดีเด่นด้านวิชาการ วิจัย และปฏิบัติการ
- ในปี พ.ศ. 2551 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ปรับเปลี่ยนสถานภาพจากมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ สู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
- พ.ศ. 2553 กระทรวงศึกษาธิการ ให้ความเห็นชอบให้ความเห็นชอบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีคุณสมบัติครบตามกำหนดเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ กับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการพัฒนาศักยภาพการวิจัยของมหาวิทยาลัยให้ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย และสร้างขีดความสามารถในระดับโลก (World Class University)

ทศวรรษที่ 6 พ.ศ.2557 ถึง ปัจจุบัน มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรม และการพัฒนาที่ยั่งยืน

The Sixth Decade (2014 - 2020)Transforming to become University of Innovation and Sustainable Development

  

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความคล่องตัว ยืดหยุ่น สามารถปรับตัวได้กับสถานการณ์โลกใบใหม่ที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยมีจุดมุ่งเน้นคือ การสร้างการวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นเลิศ ตอบโจทย์ที่สำคัญของประเทศและชุมชนท้องถิ่น ให้มหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่งของสังคม ผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรม คุณภาพ และมีทักษะการเป็นพลเมืองโลก ร่วมสร้างสรรค์และพัฒนาสังคมเพื่อให้ประชาคมอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดการเรียนการสอนใน 21 คณะ 3 วิทยาลัย 1บัณฑิตวิทยาลัย และมีสถาบันวิจัย 3 สถาบัน โดยเปิดสอนในระดับปริญญาตรีมีหลักสูตรที่เปิดสอนในแต่ละคณะจำนวน 340 หลักสูตร และสามารถผลิตบัณฑิตจากสาขาวิชาต่างๆ ออกไปรับใช้สังคมแล้วกว่า 206,283 คน

พร้อมกันนี้ ได้กำหนดทิศทางการพัฒนางานวิจัยที่มุ่งเน้นการวิจัยที่เป็นเลิศและการสร้างนวัตกรรม นำไปใช้จริงเพื่อบตอบโจทย์การขับเคลื่อนตามประกาศนโยบายรัฐบาล (Thailand 4.0) บูรณาการการวิจัยร่วมกับการเรียนการสอนในหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา ขณะเดียวกันยังคงดำเนินการวิจัยเพื่อรับใช้สังคม ขับเคลื่อนสังคมในพื้นด้วยองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัย มีผลงานการตีพิมพ์เผยแพร่ กว่า 14,551 เรื่อง มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่โดดเด่น อาทิ รากฟันเทียมนวัตกรรมใหม่, เครื่องพลาสมารักษาแผลกดทับ, เทคโนโลยีควอนตัม, เทคโนโลยี 5 G, AI และ Big Data, พรหมจุฬาภรณ์ (พันธุ์ไม้ชนิดใหม่ของโลก), น้ำตาลลำไย , ข้าวก่ำเจ้า มช. 107 (ข้าวสายพันธุ์ใหม่ ต้านมะเร็ง กระเพาะ และป้องกันโรคหัวใจ) , การคัดเพศน้ำเชื้อโคนม (เพิ่มโอกาสได้วัวเพศเมีย ลดต้นทุนการผลิต), โรงงานต้นแบบลดความชื้นพร้อมกำจัดแมลงและไข่แมลง, พลาสติกชีวภาพสำหรับใช้ทางการแพทย์, บรรจุภัณฑ์จากกากกาแฟและแป้งมันสำปะหลัง เป็นต้น

   


ในทศวรรษที่ 6 นี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการบูรณาการความเชี่ยวชาญในสาขาที่หลากหลาย ตอกย้ำมหาวิทยาลัยชั้นนำเพื่อชุมชน-ภูมิภาคอาเซียน มุ่งความเป็นเลิศที่ยั่งยืน เข้าถึงความรู้ตลอดทุกช่วงอายุ และ Green and Clean Campus ภายใต้ยุทธศาสตร์เชิงรุก 3 ด้าน คือ
1. นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน อาทิ
- โครงการ Zero Waste CMU เพื่อลดการนำขยะไปฝังกลบเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเริ่มตั้งแต่ต้นทางคือ รณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก กลางทางคือการคัดแยกขยะ และปลายทางคือการนำขยะไปแปรรูปให้เป็นพลังงานทดแทน โดยศูนย์บริหารจัดการขยะครบวงจร มช. ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินโครงการ Green and Clean Campus สามารถลดการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงได้กว่า 10,900 tCO2 (หนึ่งหมื่นเก้าร้อย ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า)


2. นวัตกรรมด้านอาหารและสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ อาทิ
- จัดสร้างศูนย์อาหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นศูนย์รวมสถานที่จำหน่ายอาหารสุขภาพถูกหลักอนามัย ให้นักศึกษา บุคลากร และประชาชนได้รับประทาน โดยเป็นอาคาร 2 ชั้นที่รองรับผู้มาใช้บริการได้กว่า 2,000 ที่นั่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ 2563
- ด้านการดูแลผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงการเข้าสู่สังคมผู้อายุอย่างสมบูรรณ์แบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ มีการส่งเสริมการพัฒนาการดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวม ที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมาได้ดำเนินการศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ บนถนนเชียงใหม่-ฮอด ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และล่าสุด ได้มีการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมพฤฒิพลังผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU Senior Wellness Center) ขึ้น บนพื้นที่ติดริมแม่น้ำปิง ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นต้นแบบในการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี รองรับสังคมผู้สูงอายุและการเป็นเมืองสุขภาพของเชียงใหม่ ถ่ายทอดองค์ความรู้ผู้สูงอายุทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการอบรมการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งตัวผู้สูงอายุเองและผู้ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งจะตอบโจทย์ของการใช้ชีวิต การดูแลสุขภาพ ด้วยเป้าหมายคือ ลดอัตราการเจ็บป่วย ส่งเสริมให้คนป่วยน้อยที่สุด หรืออาจเรียกได้ว่า สูงวัยอย่างมีสุขภาพดี ซึ่งคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2564 หรือ ต้นปี 2565


3. ล้านนาสร้างสรรค์ มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ด้านล้านนาและการสร้างนวัตกรรมร่วมสมัย เพื่อสร้างจิตวิญญาณประจำท้องถิ่น เพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคมมุ่งสู่ระดับสากล อาทิ
- จัดตั้งศูนย์ Creative Lanna Design Center ขึ้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในการพัฒนานวัตกรรม เป็นที่บ่มเพาะ อบรมและสร้างสรรค์สินค้าใหม่ๆ ที่สานต่อมาจากภูมิปัญญาดั้งเดิมต่อยอดให้มีความร่วมสมัยในทุก ๆ มิติ ทั้งด้านการออกแบบสินค้า การผลิต การตลาด ช่องทางการจัดจำหน่าย และสามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ล้านนาได้อย่างสร้างสรรค์
- โครงการศิลปะชุมชน ณ วัดศรีนวรัฐ (ทุ่งเสี้ยว) อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เป็นโครงการศิลปกรรมชุมชน Chiangmai Street Arts โดย ผลงานส่วนหนึ่งบนผนังศาลาวัด เป็นผลงานของคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  

พร้อมกันนี้ มหาวิทยาลัยยังได้ให้ความสำคัญกับการนำงานวิจัยและนวัตกรรม สร้างสรรค์บริการวิชาการ ที่ตอบโจทย์เพื่อสังคม เพื่อให้ได้รับการนึกถึงเป็นที่แรกในการแก้ไขปัญหาสำคัญและเสริมพลังของชุมชน ท้องถิ่นและสังคม โดยใช้ศักยภาพของมหาวิทยาลัยและเครือข่าย อาทิ
- โครงการ “ระบบผ่อดีดี (PODD): ระบบเฝ้าระวังสุขภาพผ่อดีดีชุมชน มิติใหม่ยุค Thailand 4.0” -โครงการ “ยุทธศาสตร์และความสำเร็จในการต่อสู้ภัยสุขภาพ จากแมงกะพรุนที่ทำให้ตายได้ในประเทศไทย ... เส้นทางต่อสู้ ปี พ.ศ. 2551 ถึง 2562”
-โครงการ “การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ... ขยายผลสู่ Chiang Mai City of Craft and Folk Arts และ เชียงใหม่ เมืองมรดกโลก”
- โครงการ “ตุ๊กตาวิเศษ เครื่องมือประกอบการสอบถามผู้เกี่ยวข้องในคดีทารุณกรรมทางเพศ”
- ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯ โครงการ“ระบบการทำงานสำหรับกระบวนการการรักษาโรคปากแหว่งเพดานโหว่ภาคเหนือตอนบนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ”

    

โลกในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกๆ ด้าน มหาวิทยาลัยได้ส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เปิดการเรียนรู้สู่โลกดิจิทัล ด้วยระบบ e-Learning ในหลากหลายรูปแบบ ได้พัฒนาต่อยอดการเรียนรู้แบบไร้ขีดจำกัด กับหลักสูตรออนไลน์ ที่สอนโดยอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ สาขาวิชาต่างๆ ให้นักศึกษาและผู้สนใจเลือกศึกษาเพิ่มเติมได้ ฟรี ตามความสนใจ ผ่านโครงการ THAIMOOC ที่ http://mooc.cmu.ac.th มีผู้ลงทะเบียนเรียนมากกว่า 75,000 คน เมื่อเรียนครบตามจำนวนชั่วโมงและสอบผ่านตามมาตรฐานที่กำหนด จะมีใบประกาศนียบัตรรับรอง และล่าสุด ได้เปิดมิติใหม่ทางการศึกษา เพื่อพัฒนาคนทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวัยก่อนปริญญา กลุ่มเรียนปริญญา และกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุ ก่อนวัยเรียน โดยเปิดวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต หรือ School of Lifelong Education เมื่อสำเร็จหลักสูตรสามารถขอใบรับรองสมรรถนะ หรือสะสมเป็นหน่วยกิตเพื่อขอรับปริญญาได้ในอนาคต

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งพัฒนาและยกระดับเมืองเชียงใหม่ให้เป็น Medical Hub หรือเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ โดยมีการจัดสร้างอาคาร Medical Hub ที่คณะแพทยศาสตร์ และที่ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ "หริภุญไชย" จังหวัดลำพูน สร้างอาคารศูนย์สุขภาพสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ เพื่อบริการวิชาการ การวิจัย และให้บริการรักษาโรคเฉพาะทางสำหรับสัตว์เลี้ยง อาคารศูนย์กีฬาและสุขภาพ จัดสร้างศูนย์ส่งเสริมพฤฒิพลังผู้สูงอายุ (Senior Wellness Center) บริเวณริมแม่น้ำปิง ที่ ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นต้นแบบในการส่งเสริมการดูแลสุขภาพผู้สูงวัย แบบครบวงจร นอกเหนือจากด้านการแพทย์แล้ว ยังมีการสร้างโรงปรับปรุงคุณภาพน้ำ เพื่อเป็นต้นแบบในการนำน้ำเสียกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ให้แก่ชุมชนอีกด้วย

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พัฒนาการศึกษา สร้างสรรค์งานวิจัย ถ่ายทอดองค์ความรู้ และผลิตบัณฑิตคุณภาพ มาแล้วกว่า 55 ปี ปัจจุบันมีนักศึกษาเก่าเลือดม่วง มช. ออกไปรับใช้สังคมทุกด้านกว่า 206,283 คน ทุกการเติบโต ทุกงานที่มุ่งมั่น ทุกพลังความดี ที่เหล่าลูกช้างทุกรุ่นทุกรหัส ได้สร้างสรรค์ขึ้น เป็นความภูมิใจของมหาวิทยาลัย ที่พร้อมจะส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น และมุ่งพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างไม่หยุดนิ่ง พร้อมอยู่เคียงข้างชุมชนและสังคม 

ท้ายที่สุด กระผมต้องขอขอบพระคุณ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ อธิการบดี แขกผู้มีเกียรติทุกท่านที่สละเวลาและให้เกียรติมาร่วมงานเฉลิมฉลอง 55 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในวันนี้ และขอขอบคุณ ชาว มช. ทุกท่าน ในที่นี้ ที่ได้ร่วมกันเป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ก้าวเดินไปข้างหน้ามาโดยตลอด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องขอบคุณผู้บริหาร คณาจารย์ในอดีต ที่ช่วยกันทำให้ มช. มีวันนี้ ซึ่งในวันนี้มีทายาทผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาร่วมงานด้วยหลายท่าน
ขอบคุณในความมุ่งมั่น ที่จะร่วมกัน สร้างสรรค์ งานวิจัย นวัตกรรม งานบริการวิชาการ และ งานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ที่มีคุณภาพสู่สังคมและชุมชน อีกทั้ง การพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อสร้าง บัณฑิตแห่งคุณภาพ และ คุณธรรม เพื่อให้ “ลูกช้าง”เหล่านั้น ได้ออกไปสร้างสรรค์ความงาม ให้เกิดขึ้นกับโลก/สังคม/ ชุมชน ร่วมพัฒนาสังคมเพื่อให้ประชาคมอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนตลอดไป


“มช. 55 ปี สร้างคนดีให้แผ่นดิน”

แกลลอรี่