อ.วิศวฯ มช. ร่วมผลักดันทีม นร.ปรินส์ เชียงใหม่ พัฒนาเครื่องตรวจหัวใจด้วยตนเอง CS-M Tool สู่แชมป์โลก เวที Intel AI Global Impact Festival 2022

20 ตุลาคม 2565

คณะวิศวกรรมศาสตร์

เมื่อวันอังคารที่ 11 ตุลาคม 2565 เวลา 15.30 น. ดร.เกรียง ฐิติจำเริญพร ผู้อำนวยการโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ เข้าพบคณบดี รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย ฟองสมุทร พร้อมผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยศธนา คุณาทร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ณ Hall of Fame ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อแสดงความขอบคุณที่คณะฯ มีส่วนผลักดันเป็นที่ปรึกษาแก่ทีมนักเรียนผู้พัฒนาผลงาน “เครื่องมือการตรวจสอบหัวใจด้วยตนเองจากเสียงเสต็ตโทสโคปด้วยอัลกอริธึมเครือข่ายเซลล์ประสาทเทียม” (CS-M Tool) ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศระดับโลกในฐานะที่สร้างสรรค์ผลงานปัญญาประดิษฐ์ที่มีผลกระทบสูง (Global Award Winners for AI Impact Creator) ระดับเยาวชนอายุ 13-17 ปี จากเวที Intel AI Global Impact Festival 2022 จัดโดย บริษัท อินเทล ประเทศสหรัฐอเมริกา

ผลงานข้างต้น พัฒนาโดยทีมเยาวชนประเทศไทย ได้แก่ นายธนภัทร จรัญวรพรรณ, นายนพวิชญ์ ฉุนรัมย์ และ นายแมท แทนไทย คอช นักเรียนโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย โดยมี อาจารย์รุ่งกานต์ วังบุญ, อาจารย์กฤติพงศ์ วชิรางกุล รวมถึงอาจารย์สาธิตา วรรณรัตน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ทั้งยังมีที่ปรึกษาเชี่ยวชาญทางโรคหัวใจและนวัตกรรมของคณะแพทยศาสตร์ รวมถึงคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ได้แก่ นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์, แพทย์หญิงแรกขวัญ สิทธิวางค์กูล, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพ.นราวุฒิ ประเสริฐวิทยากิจ, รองศาสตราจารย์ ดร.พญ.ศิริอนงค์ นามวงศ์พรหม, อาจารย์ นายแพทย์ชโนดม เพียรกุล และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยศธนา คุณาทร อนึ่ง ผลงาน CS-M Tool ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ร่วมกับหูฟังของแพทย์ เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนทั่วไปสามารถตรวจคัดกรองหัวใจในเบื้องต้นเองได้ ช่วยลดอัตราการเสียจากโรคหัวใจ อันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของไทยรวมถึงทั่วโลก ตัวเครื่องมีศักยภาพระดับเครื่องมือช่วยเหลือแพทย์ในโรงพยาบาล ศูนย์ หรือโรงพยาบาลประจำตำบล ตลอดจนตอบโจทย์นโยบาย BCG Economy Model ของรัฐบาลอีกด้วย
ข้อมูลโดย : https://eng.cmu.ac.th/?p=29807
แกลลอรี่