มช. จับมือ มหาวิทยาลัยญี่ปุ่น-ไต้หวัน ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs

8 กันยายน 2564

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เดินหน้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ด้วยการสนับสนุนการศึกษารูปแบบใหม่ ผลักดันการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการดำเนินงานต่างๆ เพื่อเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมต้นแบบเพื่อชุมชน และร่วมพัฒนาสังคม รวมไปถึงความร่วมมือกับสถาบันศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่นเดียวกับการประชุม วิชาการนานาชาติในรูปแบบการประชุมเสมือนจริง (Virtual Meeting) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ “Trilateral Symposium on SDGs : Chiang Mai University (CMU) - Kagawa University (KU) - National Chiayi University (NCYU)” โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นประธานเปิดการประชุม เมื่อวันพุธที่ 1 กันยายน 2564 13.00-15.00 น.

Trilateral Symposium on SDGs : Chiang Mai University (CMU) - Kagawa University (KU) - National Chiayi University (NCYU) เป็นการประชุมวิชาการนานาชาติ เกิดขึ้นจากความร่วมมือภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOUs) ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Kagawa University ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 จากนั้นได้มีกิจกรรมความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา โครงการแลกเปลี่ยนนักวิจัยระหว่าง 2 สถาบัน รวมถึงการเป็นเจ้าภาพร่วมการประชุมนานาชาติ คือ การประชุม “Educational Research Exchange Joint Symposium (EDUREJS)” ครั้งที่ 1 ซึ่งเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2550 จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และการประชุมครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2551 จัดขึ้น ณ Kagawa University ประเทศญี่ปุ่น และการประชุมครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553 จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากมติที่ประชุมเมื่อปี 2551 เห็นควรให้มีการจัดประชุมดังกล่าวปีเว้นปีจวบจนปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2564 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และKagawa University ได้เชิญ National Chiayi University จากประเทศไต้หวันเข้าร่วมการประชุม เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านงานวิจัย รวมถึงการต่อยอดงานวิจัย ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ประกอบด้วย พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง 3 สถาบัน การประชุมวิชาการนานาชาติ โดยมุ่งเน้นการนำเสนอในหัวข้อที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และยุทธศาสตร์เชิงรุกและพันธกิจของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยแบ่งเป็นการนำเสนอหัวข้อวิจัย 5 หัวข้อ ได้แก่ 1) Food Session 2) Health Session 3) Society Session 4) Technology Session 5) Student Session ซึ่งเป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ต่างๆ ระหว่างนักศึกษา 3 สถาบัน ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส COVID-19

การประชุมวิชาการนานาชาติในครั้งนี้ จะเป็นกลไกสำคัญเพื่อขับเคลื่อนด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งยกระดับสมรรถนะและศักยภาพในระดับนานาชาติ ตอบสนองต่อการพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์เชิงรุก ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการผสานสัมพันธ์การบูรณาการพันธกิจหลักร่วมกันต่อไปในอนาคต อันจะนำไปสู่ความร่วมมือสมดังเป็นเจตนารมณ์ของทุกฝ่ายต่อไป

#CMU #ChiangMaiUniversity #มช #มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน #CMUSDGs #CMUSDG17

แกลลอรี่