เครือข่ายแมงกะพรุนพิษ มช. ช่วยชีวิตเด็กหญิงชาวอิสราเอล ถูกพิษแมงกะพรุนกล่อง จ.สุราษฎร์ธานี

20 ตุลาคม 2565

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

       ในน่านน้ำประเทศไทยมีแมงกะพรุนอยู่หลายชนิด แต่หนึ่งในชนิดที่เป็นอันตรายที่สุด และมีการรายงานว่าทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 2 – 10 นาที คือ แมงกะพรุนกล่องชนิดมีหนวดหลายเส้น (Multiple-tentacle box jellyfish) ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2565 เกิดเหตุที่อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี นักท่องเที่ยวเด็กผู้หญิงชาวอิสราเอล อายุ 6 ปี โดนแมงกะพรุนกล่องชนิดมีหนวดหลายเส้น ได้รับพิษอาการสาหัส มีภาวะหัวใจหยุดเต้น ได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมและรวดเร็วจากผู้อยู่ในเครือข่ายแมงกะพรุนพิษและเครือข่ายที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากนักวิจัยรับใช้สังคมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการประสานเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเกาะพะงันโดยเฮลิคอปเตอร์ไปยังโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีเพื่อทำการรักษาต่อจนปลอดภัยพ้นขีดอันตราย ซึ่งความช่วยเหลือครั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร. พญ.ลักขณา ไทยเครือ สังกัดภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ เป็นผู้ให้คำแนะนำและร่วมทำงานกับเครือข่าย

      จากการให้สัมภาษณ์ของ นพ.มรรษยุว์ อิงคภาสกร แพทย์เวชศาสตร์ทางทะเล รพ.เกาะสมุย ผู้ประสานงานโครงการและผู้เข้าร่วมการอบรม“การอบรมเครือข่ายถ่ายทอดองค์ความรู้การเฝ้าระวังป้องกันการบาดเจ็บจากแมงกะพรุนพิษในพื้นที่ต้นแบบ”ซึ่งเป็นโครงการบริการวิชาการสู่สังคมที่มีผลกระทบสูงของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ศ.ดร.พญ.ลักขณา ไทยเครือ สังกัดภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ (และ คุณสินีนาถ สันติธีรากุล หัวหน้างานบริหารงานวิจัย เป็นผู้ร่วมดำเนินการ) มีการดำเนินการสร้างเครือข่ายถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ผ่านมานับว่าประสบการณ์ความสำเร็จ ในการสร้างครูต้นแบบ ในการนำความรู้ไปถ่ายทอดสู่บุคคลต่าง ๆ ในสหวิชาชีพ เช่น ผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะ ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่ติดทะเล และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว อำเภอเกาะพะงัน นับว่าประสบความสำเร็จที่นักท่องเที่ยวปลอดภัยไม่เสียชีวิต เพราะได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธีนั่นเอง

        ในส่วนกิจกรรมงาน Full moon party ที่ไม่สามารถยกเลิกได้นั้น เครือข่ายร่วมกับ ศ.ดร.พญ.ลักขณา ไทยเครือ ดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันและแจ้งเตือนอย่างเต็มที่ทำให้ไม่มีเหตุการณ์บาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตเกิดขึ้น

         แรกเริ่มในปี พ.ศ. 2551 นั้น สภาพการณ์ปัญหาในประเทศไทยยุ่งยากซับซ้อน (เช่น นักวิชาการปฏิเสธว่าแมงกะพรุนกล่องที่ทำให้ตายได้มีอยู่จริง มีความเชื่อผิดเกิดจากภูมิแพ้ง่าย มีการวินิจฉัยผิดส่งผลให้รักษาผิด มีการปฐมพยาบาลตามความเชื่อเดิมที่เพิ่มโอกาสตายมากขึ้น มีผลกระทบมากต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่มทั้งภายในและต่างประเทศ มีความอ่อนไหวของการเมืองและการทูต สื่อต่างชาติเข้าใจว่าประเทศไทยปิดบังปัญหาและไม่ได้แก้ไข มีความขัดแย้งทางวิชาการ ไม่มีเครื่องมือในการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการในการระบุชนิดและพิษของแมงกะพรุนชนิดที่ทำให้ตายได้ ไม่มีผู้เชี่ยวชาญและองค์ความรู้เรื่องนี้ของไทย เป็นต้น) จึงได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อแก้ปัญหา โดยดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2551 ถึง พ.ศ. 2565 มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชนสังคมในแต่ละระดับอย่างบูรณาการ ผลักดันด้านนโยบาย และนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบทขององค์กรต่าง ๆ โดยในช่วงปี 2551 - 2560 ดร. พญ.พจมาน ศิริอารยาภรณ์ (ก่อนลาออกจากราชการ) จากกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ ศ.ดร. พญ.ลักขณา ไทยเครือ เป็นผู้ดำเนินการหลักเป็นเวลากว่า 13 ปี ที่ นักวิจัยรับใช้สังคมจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมแก้ปัญหาภัยสุขภาพกับเครือข่ายแมงกระพรุนพิษตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงนานาชาติ (คณะทำงาน, กลุ่มนักวิชาการ, ชุมชน) สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม ในการวินิจฉัย ปฐมพยาบาล รักษา เฝ้าระวัง ป้องกัน อาทิเช่น เทปกาวสุญญากาศเก็บและส่งตัวอย่างระบุกระเปาะพิษของแมงกะพรุน แนวทางดูแลรักษาผู้บาดเจ็บจากแมงกะพรุนพิษ ตาข่ายกั้นแมงกะพรุน ป้ายเตือนให้ความรู้แบบใหม่ ป้ายการใช้ตาข่ายกั้นแมงกะพรุน

         สำหรับในช่วงปี 2558–2565 มุ่งพัฒนาความยั่งยืนให้แก่ชุมชน นอกเหนือจากสร้างความยั่งยืนผ่านภาครัฐและเอกชนแล้ว ยังได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยที่ให้การสนับสนุนงานตามวิสัยทัศน์ “การรับผิดชอบต่อสังคม” กำหนดยุทธศาสตร์ตามพันธกิจ “บริการวิชาการที่เกิดประโยชน์แก่สังคม” ในปีงบประมาณ 2564 หน่วยงานสนับสนุนวิชาการรับใช้สังคม สำนักงานบริหารงานวิจัยได้สนับสนุน โครงการบริการวิชาการที่มีผลกระทบสูงเรื่อง ‘โครงการเตรียมเครือข่ายถ่ายทอดองค์ความรู้การเฝ้าระวังป้องกันการบาดเจ็บจากแมงกะพรุนพิษในพื้นที่ต้นแบบ’ ที่มี ศ.ดร.พญ.ลักขณา ไทยเครือ เป็นหัวหน้าโครงการ และ คุณสินีนาถ สันติธีรากุล หัวหน้างานบริหารงานวิจัย คณะแพทยศาสตร์ เป็นผู้ร่วมดำเนินการ ได้ผลสำเร็จลุล่วงด้วยดีในสถานการระบาดของโรค COVID-2019 ได้เครือข่ายแมงกะพรุนพิษและเครือข่ายถ่ายทอดองค์ความรู้ในการเฝ้าระวังป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากแมงกะพรุนพิษในพื้นที่ต้นแบบ 2 เครือข่าย ได้แก่ ฝั่งอ่าวไทย คือ อำเภอเกาะสมุย และอำเภอเกาะพงัน (รวม เกาะเต่า) จังหวัดสุราษฎร์ธานี ฝั่งอันดามันคือ อำเภอเมือง อ่าวนาง เกาะพีพี เกาะยาว และพื้นที่ที่มีความพร้อม จังหวัดกระบี่ ได้หลักสูตรสำหรับพัฒนาเครือข่ายถ่ายทอดองค์ความรู้ ฯ 2 หลักสูตร ในแต่ละจังหวัด คือ หลักสูตรสำหรับผู้ที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ และหลักสูตรสำหรับบุคคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข นำไปสู่ โครงการบริการวิชาการที่มีผลกระทบสูงเรื่อง ‘การอบรมเครือข่ายถ่ายทอดองค์ความรู้การเฝ้าระวังป้องกันการบาดเจ็บจากแมงกะพรุนพิษในพื้นที่ต้นแบบ’ ในปี 2565 ซึ่งได้ทุนสนับสนุนดำเนินการในการอบรมผู้ทีได้รับคัดเลือกเป็นเครือข่าย และ การสร้างหลักสูตรต้นแบบการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการเฝ้าระวังป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากแมงกะพรุนพิษของประเทศ โดยดำเนินการในพื้นที่ต้นแบบ อำเภอเกาะสมุย และอำเภอเกาะพงัน (รวม เกาะเต่า) จังหวัดสุราษฎร์ธานี

      ทั้งนี้ยังนำไปประยุกต์ใช้ในหลักสูตร Maritime Health Profile ของโครงการพัฒนางานสาธารณสุขทางทะเลเขตสุขภาพที่ 11 กระทรวงสาธารณสุข และ การอบรมในโครงการพัฒนาศักยภาพการกู้ชีพและช่วยชีวิตทางน้ำ ของโรงพยาบาลเกาะสมุย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กรมแพทย์ทหารเรือ กองทัพเรือ ประเทศไทยได้ประกาศมาตรการเข้าประเทศได้อย่างเต็มรูปแบบ การท่องเที่ยวภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทางศ.ดร.พญ.ลักขณา ไทยเครือ ร่วมกับเครือข่ายได้เน้นย้ำถึงดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและแจ้งเตือนอย่างเต็มที่ เพื่อรองรับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
แกลลอรี่