โครงการอบรม “การใช้แนวคิดการประกอบการเพื่อแก้ปัญหาสังคม” Workshop on “Entrepreneurial Approach Usage in solving social problem issues”

5 เมษายน 2565

คณะสังคมศาสตร์

เมื่อวันที่ 14 – 15 มีนาคม พ.ศ.2565 หน่วยงานพัฒนาคุณภาพนักศึกษา งานบริการการศึกษาและพัฒนาคุณภาพนักศึกษา คณะสังคมศาสตร์ และบริษัทฟาร์มโตะ (FARMTO) หน่วยงานภาคเอกชนด้านการเกษตร จัดกิจกรรม 24 – hour onsite hackathon ณ โรงแรมเบลล์ วิลล่า รีสอร์ท เพื่อให้นักศึกษาเพิ่มพูนทักษะที่จำเป็นในการทำงาน/ทำธุรกิจ ผ่านการเรียนรู้แนวคิดการประกอบการ และยังช่วยให้นักศึกษาทดลองเปิดกว้างทางความคิด แสดงความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาทางสังคม

การอบรมกิจกรรมครั้งนี้ ได้มีนักศึกษาจากคณะสังคมศาสตร์ มช. ชั้นปีที่ 1 - 3 จำนวน 20 คน ที่ได้เข้าร่วมเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก จะได้มีโอกาสในการทำความรู้จักกับวิทยากรจากฟาร์มโตะ และเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มย่อย Workshop เพื่อเรียนรู้สถานการณ์จริงเกี่ยวกับการทำธุรกิจ โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาให้ความรู้

สำหรับการอบรมกิจกรรมนอกสถานที่ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการอบรม การใช้แนวคิดการ ประกอบการเพื่อแก้ปัญหาสังคม (Workshop on “Entrepreneurial Approach Usage in solving social problem issues)” ภายใต้ยุทธศาสตร์เชิงพันธกิจที่ 1 ผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรม คุณภาพ และทักษะ การเป็นพลเมืองโลกโดยมีกิจกรรมดังนี้

• วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 Pre-workshop / Project orientation : ผ่านโปรแกรมซูม
• วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2565 Online workshop / pre-proposal : ผ่านโปรแกรมซูม
• วันที่ 14-15 มีนาคม 2565 24-hour onsite hackathon ณ โรงแรมเบลล์ วิลล่า รีสอร์ท

ที่ผ่านมาในสังคมไทยทั่วไปและในการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยไทยมีการขยายแนวคิดเรื่อง “ธุรกิจเพื่อสังคม” (Social Enterprise) ธุรกิจประเภทนี้มักเกิดขึ้นจากกลุ่มธรุกิจสตาร์ทอัพ (Startup) หรือกลุ่มผู้ริเริ่มคิดโจทย์ปัญหาสังคมที่สนใจ แล้วมองหาทางออกด้วยการนำระบบเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ด้านต่างๆ รวมทั้งระบบการบริหารจัดการธุรกิจมาใช้แก้ไขปัญหาสังคมที่กลุ่มสนใจ โดยอาศัยเงินทุนจากกลุ่มนักลงทุน (Angel Venture, investors) ที่พร้อมและมองว่าคุ้มค่าในการลงทุนเพื่อแก้ปัญหา กลุ่มธรุกิจสตาร์ทอัพจำนวนมากเมื่อตั้งตัวได้ก็ผันตัวจัดตั้งองค์กรทางธุรกิจที่อาจจะลงหลักปักฐานได้ แล้วดำเนินกิจกรรมประกอบการแก้ไขปัญหาสังคมไปพร้อมๆ กับการทำธุรกิจที่ได้กำไรและคืนให้สังคมอย่างเป็นธรรมต่อเนื่องและยั่งยืน

กลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพ ผู้เริ่มต้น หรือกลุ่มธุรกิจที่ตั้งตัวได้เหล่านี้ได้นำหลักการแนวคิด “การประกอบการ” (Entrepreneurial Approach) ไปปรับใช้และปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในเวทีวิชาการ ศาสตร์ด้านการบริหารธุรกิจ การตลาด เศรษฐศาสตร์จุลภาค และ/หรือเวทีเอกชนด้านการประกอบการการค้า ธุรกิจและการบริหารจัดการทางธุรกิจเป็นหลัก ขณะที่ในวงวิชาการทางสังคมศาสตร์ แนวคิดดังกล่าวยังถูกนำมาปรับใช้ในทางปฏิบัติไม่มากนัก ทั้งๆ ที่หลักการพื้นฐานแนวคิดดังกล่าว (เช่น การวิเคราะห์ปัญหาสังคม การแก้ปัญหาเชิงรูปธรรม ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการนำเสนอ ทักษะการจัดการ เป็นต้น) ไม่เพียงเป็นไปเพื่อผลสัมฤทธิ์ประกอบการเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ “ผู้เรียน” นำหลักการพื้นฐานเหล่านี้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ที่ซึ่งชีวิตเราปัจจุบัน เทคโนโลยี ความทันสมัยในยุคโลกาภิวัตน์และทุนนิยมเข้มข้นได้สร้างความผกผันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกว่าในอดีตอย่างมาก

ซึ่งโครงการนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างคณะสังคมศาสตร์กับบริษัทฟาร์มโตะ (FARMTO) หน่วยงานจากภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ตรงจากการเคยเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพ คิดโจทย์แก้ไขปัญหาด้านการเกษตรในชุมชนชนบท จนปัจจุบันสามารถตั้งบริษัทเอกชน รูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ การทำวิจัยและการพัฒนา research and development และระบบการบริหารจัดการ มาดำเนินการในบริษัทที่ได้กำไรแบบพอเพียงไปพร้อมกับการคืนให้สังคมอย่างเป็นรูปธรรม
กิจกรรมการจัดโครงการนี้ เน้นฝึกทักษะด้านต่างๆ ที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้ เช่น 1.ทักษะการแก้ปัญหา (Problem solving skill) 2.ทักษะการคิดสร้างสรรค์ (Creativity skill) 3.ทักษะด้านการเงิน (Financial literacy) วิธีคิดเรื่องความคุ้มค่าของมูลค่า/คุณค่า 4.ทักษะการนำเสนอ (Presentation skill) นักศึกษาจะได้ทดลองฝึกปฏิบัติ เพิ่มพูนทักษะด้านต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับการมีมุมมองในเชิงวิพากษ์แนวคิดกระแสทุนนิยมประกอบการไปด้วย

แกลลอรี่