Research VDO Series 55 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มช. : เทคโนโลยีพลาสมาจะรักษาบาดแผลได้อย่างไร?

13 พฤษภาคม 2562

คณะวิทยาศาสตร์

เทคโนโลยีพลาสมาจะรักษาบาดแผลได้อย่างไร?

 

จะดีแค่ไหนถ้าเราสามารถเพิ่มทางเลือกในการรักษาบาดแผลที่สะดวกและมีประสิทธิภาพ ด้วยนวัตกรรมจากฝีมือนักวิจัยไทย

บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.ธีรวรรณ บุญญวรรณ กับการคิดค้นอุปกรณ์ Cool Air Plasma Jet บำบัดแผลติดเชื้อ "Inno PlusCM" ร่วมกับทีมวิจัย ภายใต้บริษัท Start Up คณะวิทยาศาสตร์ มช.

 

จุดเริ่มต้นการคิดค้นนวัตกรรม Cool Air Plasma Jet บำบัดแผลติดเชื้อ

มีการศึกษาพบว่าพลาสมาสามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียที่เกิดที่แผลได้ดีมาก นักวิจัยของเราจึงได้ทำงานร่วมกับทีมวิจัยภาควิชาชีววิทยา รวมถึงคณะแพทยศาสตร์ มช. ฯลฯ เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ขึ้นมาชุดหนึ่ง คือ พลาสมาทางการแพทย์ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สามารถประยุกต์ต่อผู้ป่วยที่มีแผล ทั้งแผลติดเชื้อ ดื้อยา แผลสด แผลเปื่อย ลึกลงไปถึงกระดูก

โดยปกติการบำบัดแผลต้องใช้บุคลากรและใช้เวลานาน แต่ถ้าเราสามารถทำได้เองที่บ้าน มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ไปดูแลแผลที่บ้านหรือที่โรงพยาบาล ก็สามารถใช้เจ้าหน้าที่เพียงคนเดียว อุปกรณ์แวดล้อมก็จะลดลงโดยอัตโนมัติ เราจึงได้พัฒนาอุปกรณ์ชุดนี้ขึ้นมา โดยบริษัท Start Up ของคณะวิทยาศาสตร์ มช. ชื่อ Inno PlusCM

การทำงานของ Cool Air Plasma Jet นั้นปกติจะตั้งเวลาเอาไว้ที่ 300 วินาที ในการบำบัดหนึ่งครั้ง บนหน้าจอของอุปกรณ์จะแสดงค่ากำลังของพลาสมาที่จะออกมา ซึ่งเป็นค่าที่ปลอดภัยสำหรับบาดแผล โดยลมที่ปล่อยออกมาก็คืออากาศที่ใช้ในการทำลายเชื้อ การตั้งค่าทุกอย่างสามารถปรับได้ผ่านหน้าจอของอุปกรณ์ ถ้าเราสตาร์ทก็จะได้ยินเสียงระบบทำงาน ปั๊มลมก็จะทำงาน ส่วนหัวของพลาสมาก็จะมีแสงไฟเพื่อระบุตำแหน่งพลาสมาที่เป่าลงไปบนบาดแผล สามารถเห็นได้ว่าพลาสมากำลังลงไปในจุดใดด้วยแสง LED

ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ส่งเครื่องต้นแบบ ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยบริษัท Start Up ของคณะวิทยาศาสตร์ มช. พร้อมกับเจ้าหน้าที่ไปให้คำแนะนำและทดสอบกับแผลของผู้ป่วยอาสาสมัครอย่างต่อเนื่อง ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ แผลในช่วงแรกแบคทีเรียที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ติดเชื้อน้อยลง ส่วนที่เป็นหนองก็ลดลงไป นอกจากนี้ยังสามารถรักษาแผลกดทับของผู้ป่วยติดเตียงให้หายได้เร็วขึ้น

เครื่องพลาสมาดังกล่าวนำองค์ความรู้ทางฟิสิกส์พลาสมามาประยุกต์ใช้งานด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีหลักการทำงานในการสร้างพลาสมาโดยการดูดอากาศมาผ่านไฟฟ้าทำให้เกิดการแตกตัวของอนุภาคกลายเป็นพลาสมา มีคุณสมบัติเด่นคือ เป็นเครื่องพลาสมาอากาศบำบัดแผลติดเชื้อสำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรียและกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ มีความปลอดภัยต่อการประยุกต์ใช้ต่อเนื่อง มีศักยภาพในการกำจัดแบคทีเรียและกระตุ้นเซลล์ผิวหนังชั้นนอก อีกทั้งยังสะดวก ปลอดภัย และเป็นนวัตกรรมจากองค์ความรู้ของนักวิจัยไทยซึ่งสามารถต่อยอดใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์วิจัยฟิสิกส์ของพลาสมาและลำอนุภาค คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
E-mail: dheerawan.b@cmu.ac.th โทร. 053 942468


VDO Clip สัมภาษณ์นักวิจัย

VDO Clip สัมภาษณ์นักวิจัย full version


รับชม Research VDO Series 55 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มช.
ได้ที่ Youtube : Science CMU Official

2019 #55thAnniversaryScienceCMU
Studying@Sci E x p a n d i n g Your Mind

แกลลอรี่