โรคกระดูกพรุน ภัยเงียบที่มองไม่เห็น

13 พฤษภาคม 2564

คณะแพทยศาสตร์

ปัจจุบันโรคกระดูกพรุนพบมาก เนื่องจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น นับเป็น “ภัยเงียบ” อย่างแท้จริง เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่รู้ว่าตัวเองมีภาวะกระดูกพรุน เพราะไม่พบว่ามีอาการใด ๆ จนกระทั่งล้มแล้วมี “กระดูกหัก” จึงรู้ว่าเป็น “โรคกระดูกพรุน”

โรคกระดูกพรุน คือภาวะที่มวลกระดูกหรือเนื้อกระดูกลดลง ทำให้กระดูกค่อยๆเสื่อมลง เมื่อเวลาผ่านไปทำให้เนื้อกระดูกบาง เปราะ และหักได้ง่ายขึ้น จากการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยและการใช้ชีวิตประจำวัน บางรายแค่นอนพลิกตัวบนเตียงก็ทำให้กระดูกหักได้ พบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง โดย 1ใน 5 ของผู้หญิงไทย ที่มีอายุระหว่าง 40-80 ปี มักพบเป็นโรคกระดูกพรุน

กลุ่มเสี่ยงโรคกระดูกพรุน ได้แก่ ผู้ที่มีหลังค่อม ,ส่วนสูงลดลง ,เคยกระดูกหักง่าย ,เข้าสู่วัยทอง ,วัยหมดประจำเดือน ,ตัดมดลูกรังไข่ , ไม่กินผัก กินเนื้อสัตว์มากเกินไป ,ทานอาหารเค็มและหวานจัด ,ทานยาบางชนิดเป็นประจำ ,ไม่โดนแสงแดด ,ไม่ออกกำลังกาย ,ผอมเกินไป และสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า
ป้องกันโรคกระดูกพรุนเมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยงอย่างไร
1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดบริโภคของแสลง
2. ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัย
3. ตรวจมวลกระดูกตามข้อบ่งชี้ ได้แก่
• ผู้ที่ไม่เป็นโรคกระดูกพรุน ควรป้องกันตนเองไม่ให้เป็นโรคกระดูกพรุนหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆข้างต้น
• ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน ควรได้รับการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคกระดูก เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดกระดูกหัก

ข้อมูลโดย ผศ.นพ.ศิริพงค์ เชี่ยวชาญธนกิจ
อาจารย์ประจำภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU
#สุขภาพดีกับหมอสวนดอก #โรคกระดูกพรุน
แกลลอรี่