โรคกระดูกสันหลังเสื่อมคืออะไร มีสาเหตุจากอะไร

18 พฤศจิกายน 2563

คณะแพทยศาสตร์

โรคกระดูกสันหลังเสื่อมคืออะไร มีสาเหตุจากอะไร


เมื่ออายุมากขึ้น หมอนรองกระดูกสันหลังเหี่ยวและยุบตัวลง กระดูกสันหลังจึงหลวม กล้ามเนื้อหลังต้องออกแรงเกร็งมากขึ้นเพื่อไม่ให้กระดูกสันหลังเคลื่อนผิดปกติ เมื่อเกร็งกล้ามเนื้อนานๆ จึงทำให้มีอาการปวดหลัง นอกจากนี้เพื่อรับมือกับความหลวมของข้อกระดูกสันหลัง ร่างกายจะสร้างกระดูกงอกที่ข้อกระดูกสันหลัง เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของกระดูกสันหลัง กระดูกงอกนี้เองเป็นที่มาของคำว่า “กระดูกหลังเสื่อม” กรณีที่พบได้บ่อย คือ

- เมื่อกระดูกงอกออกจากข้อกระดูกสันหลัง อาจกดทับเส้นประสาทที่เรียกกันว่า “โรคกระดูกทับเส้น” หากเป็นกระดูกหลังเสื่อม อาจกดทับเส้นประสาทขา ทำให้มีอาการปวดหลังร้าวไปที่ขา และอาจมีอาการชาหรืออ่อนแรงขาร่วมด้วยได้

- เมื่อกระดูกงอกเข้าด้านในโพรงไขสันหลัง จะทำให้โพรงไขสันหลังตีบแคบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดน่องหรือปวดขาทั้งสองข้าง หลังจากเริ่มเดินได้ระยะทางไม่มาก ต้องนั่งพักอาการจึงจะดีขึ้น


นอกจากนี้สาเหตุที่พบได้บ่อย คือ ภาวะกระดูกสันหลังเสื่อมตามวัยแล้ว สาเหตุอื่นๆ ของกระดูกสันหลังเสื่อมอาจเกิดจากโรคติดเชื้อกระดูกสันหลังหรือเนื้องอก หรือความผิดปกติอื่นๆ ของกระดูกสันหลังได้ด้วย


แพทย์วินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังเสื่อมได้อย่างไร


โดยส่วนใหญ่ แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้โดยอาศัยการซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นหลัก อาจพิจารณาส่งภาพถ่ายรังสีกระดูกสันหลังเพื่อประกอบการวินิจฉัยในบางรายเท่านั้น ส่วนการส่งตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการตรวจคลื่นไฟฟ้าวินิจฉัย จะพิจารณาในบางรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา หรือมีความผิดปกติทางระบบประสาทร่วมด้วย เป็นต้น


แพทย์รักษาโรคกระดูกสันหลังเสื่อมอย่างไร

1. การรักษาด้วยยา แพทย์จะพิจารณาจ่ายยาแก้ปวดทั่วไป รวมทั้งยาคลายกล้ามเนื้อ หรืออาจพิจารณาใช้ยาแก้ปวดระบบประสาทในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการปวดทางระบบประสาทร่วมด้วย

2. การผ่าตัด จะพิจารณาในรายที่มีอาการปวดรุนแรง หรือมีอาการแสดงของการกดทับเส้นประสาท เช่น อ่อนแรงมาก หรือไม่สามารถกลั้นปัสสาวะ อุจจาระได้ หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ เป็นต้น

3 วิธีการทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู ประกอบด้วย

1. การปรับท่าทางในชีวิตประจำวัน

- ผู้ป่วยกระดูกหลังเสื่อมควรหลีกเลี่ยงการแอ่นหลัง รวมถึงการก้มยกของหนัก

- หากมีอาการปวดมากขึ้นในท่านอน อาจใช้หมอนรองใต้เข่าเมื่อนอนหงาย เพื่อลดการแอ่นหลัง หรืออาจเปลี่ยนเป็นท่านอนตะแคง

- เมื่อนอนหงาย ควรตะแคงตัวก่อนจะลุกขึ้นนั่ง

- ท่า Knee to chest

- เมื่อยืนนานๆ ควรพักเท้าข้างใดข้างหนึ่งบนเก้าอี้เตี้ยๆ เพื่อลดการแอ่นของกระดูกหลัง ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดมากขึ้นได้ เป็นต้น


1. การบริหารร่างกาย ท่าที่แนะนำดังต่อไปนี้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยกระดูกหลังเสื่อม แต่ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง หากบริหารแล้วมีอาการปวดมากขึ้น ควรหยุดบริหารและปรึกษาแพทย์


- ท่า Knee to chest


ควรสอดมือใต้เข่าข้างใดข้างหนึ่งและกอดขาชิดอก ขาอีกข้างเหยียดตรง ค้างไว้ 20-30 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง



- ท่า Semi-sit up



ควรชันเข่าสองข้าง ยกศีรษะ เอื้อมมือลอยเหนือเข่า ค้างไว้ 5-10 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง ควรนับออกเสียงเพื่อป้องกันการเบ่งกลั้นหายใจ


- ท่า Hamstrings stretching




พาดขาข้างใดข้างหนึ่งบนฝาผนัง ควรจัดท่าให้เข่าเหยียดตรง กระดกข้อเท้าขึ้น หากทำถูกต้องควรมีความรู้สึกตึงที่กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง ค้างไว้ 20-30 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง ควรทำทีละข้าง อาจทำที่ช่องประตูเพื่อให้ขาอีกข้างเหยียดตรงที่พื้นได้



2. กายอุปกรณ์สำหรับกระดูกสันหลัง เช่น สายรัดหลัง เพื่อเพิ่มความดันในช่องท้อง เพิ่มความมั่นคงของกระดูกสันหลังได้เล็กน้อย ควรใช้ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์


- ควรเลือกขนาดสายรัดหลังให้เหมาะสม โครงเหล็กด้านหลังจะช่วยเพิ่มความมั่นคงของสายรัดหลัง ควรปรับให้โครงเหล็กแนบพอดีกับหลัง

- สายรัดควรอยู่เหนือสะโพกเพียงเล็กน้อยและควรใส่ให้กระชับ โดยเฉพาะเมื่อต้องนั่งหรือยืนเดินนานๆ แต่ก็ไม่ควรใส่สายรัดหลังตลอดเวลา จะทำให้กล้ามเนื้อหลังอ่อนแรงมากขึ้น

- ในผู้ป่วยบางรายที่กระดูกสันหลังหลวม แพทย์อาจพิจารณาใช้กายอุปกรณ์สำหรับกระดูก สันหลังที่ทำด้วยโลหะที่มีน้ำหนักเบา เพื่อเพิ่มความมั่นคงของกระดูกสันหลัง


3. วิธีการทางกายภาพบำบัด เช่น

- การประคบร้อน หรือการนวดความร้อนลึกจากคลื่นเสียง (Ultrasound diathermy) หรือคลื่นไฟฟ้า (Short wave diathermy) เพื่อคลายกล้ามเนื้อหลัง ลดอาการปวด


-ใช้เครื่องดึงหลังเพื่อลดการกดทับเส้นประสาทและเพื่อคลายกล้ามเนื้อหลัง โดยแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

โดยสรุป หากมีอาการที่เข้าได้กับโรคกระดูกหลังเสื่อมและอาการไม่รุนแรงมาก ไม่มีข้อบ่งชี้ที่ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ อาจเริ่มต้นด้วยการปรับท่าทางในชีวิตประจำวันและการบริหารร่างกายก่อน ยกเว้นในรายที่มีอาการปวดรุนแรง มีอาการชา หรืออ่อนแรง หรือกลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้ หรือยังไม่ทราบการวินิจฉัยโรคที่แน่นอน หรือบริหารร่างกายเองแล้วไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ข้อมูลโดย อ.พญ.ชนัดดา วงศ์เอกชูตระกูล แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
ข้อมูลอัพเดตเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562
ปรึกษาเกี่ยวกับเวชศาสตร์ฟื้นฟู ได้ที่ คลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟู หมายเลข 053-936909-10 
ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  https://www.facebook.com/sriphatimc

แกลลอรี่