คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดการเรียนการสอนขึ้นในครั้งแรกในปี 2509 ภายใต้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และในปี พ.ศ. 2515 ได้แยกออกมาจากสังกัดของคณะแพทยศาสตร์ โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ภญ.สสี ปันยารชุน เป็นผู้ก่อตั้งคณะฯ ซึ่งมีปรัชญาหลักในการจัดตั้งคณะฯ คือ เพื่อผลิตเภสัชกรที่มีคุณภาพ มีความรู้เรื่องยารอบด้าน ครอบคลุมการผลิตยารวมทั้งการดูแลการใช้ยาของผู้ป่วย ที่ตั้งอยู่บนมาตรฐานความปลอดภัยของประชาชน เพราะอาชีพเภสัชกร คือ อาชีพที่ทำงานเพื่อปวงชน
ด้านการจัดการศึกษา
ปัจจุบันคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดสอนระดับปริญญาตรี 1 หลักสูตร คือ หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต (หลักสูตร 6 ปี) ระดับปริญญาโท จำนวน 4 หลักสูตร ได้แก่ 1) หลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเภสัชกรรมคลินิก 2) หลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการเภสัชกรรม 3) หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม และ 4) หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง และมีหลักสูตรระดับปริญญาเอก จำนวน 1 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ในด้านการศึกษาต่อยอดทางวิชาชีพ คณะฯ ได้เปิดหลักสูตรผู้เชี่ยวชาญด้านการบริบาลทางเภสัชกรรม สาขาเภสัชบำบัด (วุฒิบัตร) ร่วมกับวิทยาลัยเภสัชบำบัด สภาเภสัชกรรม คณะฯ มีการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลายทั้งในห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ และแหล่งฝึกปฏิบัติงานทั้งภายในและภายนอกสถาบัน มีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ร่วมกับคู่ความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ และมีการสนันสนุนสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
ด้านการวิจัย
คณะฯ ผลิตผลงานวิจัยที่ตอบสนองกับการพัฒนาประเทศและในส่วนภูมิภาค อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ความรู้ทางเภสัชกรรมในการพัฒนาเภสัชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์สุขภาพและเครื่องสำอาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสมุนไพรพื้นถิ่นและภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนา โดยคณะฯ ได้เน้นการวิจัยด้านสมุนไพรเพื่อจัดทำเป็นมาตรฐานสารสกัดจากสมุนไพร เพื่อศึกษาหาสารออกฤทธิ์และเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเพื่อขึ้นทะเบียน โดยมีศูนย์วิจัยต่างๆ ในคณะฯ ที่ผลิตผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีเครือข่ายทั้งในระดับชุมชน ระดับผู้ประกอบการ และระดับนโยบาย เพื่อกำหนดความต้องการในงานวิจัย มีเครือข่ายทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยที่เอื้อที่จะดำเนินการวิจัยแบบบูรณาการ ซึ่งหน่วยวิจัยทำหน้าที่เป็นหน่วยงานในการดูแลประสานงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการงานวิจัย ทั้งยังเป็นผู้ประสานแหล่งทุนสนับสนุนงานวิจัยต่างๆ ตลอดจนจดสิทธิบัตร
ด้านการบริการวิชาการ
คณะฯ ให้บริการวิชาการทางเภสัชศาสตร์ในลักษณะดังต่อไปนี้ 1) การประชุมวิชาการการศึกษาต่อเนื่องสำหรับเภสัชกร (CPE) โดยมีองค์ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา 2) มีการให้บริการด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพแก่ประชาชน และพัฒนามาตรฐานทางวิชาชีพ โดยศูนย์ปฏิบัติการเภสัชชุมชนซึ่งเป็นร้านยาคุณภาพตามการรับรองของสภาเภสัชกรรม และ 3) การให้บริการด้านการศึกษาชีวสมมูลของผลิตภัณฑ์ยาที่ผลิตในประเทศไทยโดยศูนย์บริการเภสัชกรรม ซึ่งศูนย์นี้เป็นเพียง 1 ใน 7 แห่งในประเทศไทย ที่ได้มาตรฐานสากล OECD GLP