อีกหนึ่งความสำเร็จจากความร่วมมือของ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มช. และ ศูนย์วิจัย ทช. ทะเลอันดามันตอนบน ในการประเมินอายุของพะยูนจากการวัดความยาวของเทโลเมียร์ที่อยู่ในเซลล์ด้วยเทคนิคทางอณูชีววิทยา
คณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน กรมทรัพยากรชายทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสบความสำเร็จในการวิจัย เพื่อหาวิธีการทำนายอายุของพะยูนได้จากการวัดความยาวของเทโลเมียร์ที่อยู่ในเซลล์ด้วยเทคนิคทางอณูชีววิทยา นับเป็นความสำเร็จในนำเสนอเทคนิคใหม่เพื่อใช้ในประเมินอายุจากเดิมที่ต้องการวัดเส้นทึบแสงในฟันหน้าซึ่งมีข้อจำกัดมากกมาย
พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยในทะเล ปัจจุบันประชากรได้ลดลงไปอย่างมา โดยในประเทศไทยพบประมาณ 200 ตัวเท่านั้น อาศัยมากแถบทะเลจังหวัดตรัง จากที่มีจำนวนลดลงอย่างมากจนใกล้สูญพันธ์จึงถูกคุ้มครองด้วยกฏหมายจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2490 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่า และพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ปัญหาการอนุรักษ์เพิ่มจำนวนสำคัญของพะยูนคือไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ รวมถึงยากที่จะเลี้ยงให้รอดชีวิตในพื้นที่จำกัดที่ไม่ใช่ทะเล ตามที่เคยเป็นข่าวดังก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็น “มาเรียม” หรือ “ยามีล”
รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.กรกฎ งานวงศ์พาณิชย์ หัวหน้าคณะผู้วิจัยได้ให้ข้อมูลว่า การใช้เทคนิคทางอณูชีววิทยามาวัดความยาวของเทโลเมียร์ซึ่งเป็นดีเอ็นเอส่วนปลายทั้งสองด้านของแท่งโครโมโซม มีการศึกษาในสัตว์หลายชนิดรวมถึงในมนุษย์ โดยผลที่ได้ก็มีความแตกต่างกันบางชนิดให้ผลดี บางชนิดให้ผลไม่ดี โดยมีข้อจำกัดและรายละเอียดปลีกย่อยจำนวนมาก แต่ในผลการศึกษานี้พบว่า สามารถสร้างสมการที่ใช้ในการทำนายอายุพะยูน มีความแม่นยำถึงร้อยละ 86 ซึ่งนับว่าสูงมาก นอกจากนั้นยังพบว่า พะยูนโตเต็มที่เมื่ออายุ 20 ปี ซึ่งถือว่าเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่และงานวิจัยนี้ยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติเรียบร้อย เป็นการยืนยันว่าการวิเคราะห์ของเราถูกต้อง ประโยชน์ที่ได้จากงานครั้งนี้คือ เราจะมีข้อมูลอายุพะยูนที่เราพบไม่ว่ามีหรือไม่มีเขี้ยวก็ตาม นอกจากนั้นเรายังสามารถใช้เทคนิคนี้มาประเมินอายุพะยูนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ด้วย
ตัวอย่างการนับเส้น dentinal growth layer บนฟันพะยูน (A) โดยนับเส้นทึบและสว่างเป็น 1 ปี (B) นับจากโพรงฟันไปจนถึงปลาย ซึ่งในรูปนับได้ประมาณ 47 คู่ เท่ากับ 47 ปี
แต่พบการสึกของฟันส่วนปลายไปมากจึงเป็นไปว่าต้องมีอายุมากกว่า 47 ปี (ที่มา Cherdsukjai et al., 2020)
กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง อายุพะยูนกับน้ำหนักตัว (A) อายุพะยูนกับความยาวลำตัว (B) อายุพะยูนกับความยาวเทโลเมียร์ (C) ความยาวเทโลเมียร์ กับน้ำหนักตัว
(D) ความยาวเทโลเมียร์ กับความยาวลำตัว (E) และน้ำหนักตัวกับความยาวลำตัว (A) (ที่มา Cherdsukjai et al., 2020)
ดร. ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการประมาณอายุของพะยูน ที่พบไม่ว่าจะมีชีวิตหรือตายแล้วนับว่าเป็นปัญหาสำคัญที่เราหาคำตอบได้ยาก เดิมเราใช้วิธีการนับจำนวนเส้นทึบแสงในฟันหรืองาของพะยูนแต่วิธีนี้มีข้อจำกัดมากเนื่องจาก งาของพะยูนมักถูกขโมยไปก่อนที่เจ้าหน้าที่เข้าไปถึง นอกจากนั้นหากงาที่ไม่สมบูรณ์ก็ไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้ และไม่สามารถประเมินอายุพะยูนที่มีชีวิตอยู่ได้ แต่การศึกษาครั้งนี้มีประโยชน์มากเนื่องจากเราเพียงสกัดสารพันธุกรรมจากพะยูนเวลานำมาวิเคราะห์ เราก็จะได้อายุโดยประมาณ แม้จะไม่แม่นยำร้อยละร้อยแต่เพียงเท่านี้ก็นับว่ามีประโยชน์อย่างมาก สำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ที่จำนำไปใช้
#CMU #ChiangMaiUniversity #มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนSDGs
#CMUSDGs #CMUSDG9 #CMUSDG14 #CMUSDG17