มช. พัฒนานวัตกรรมน้ำมันสกัดจากแมลงทหารเสือ สู่ กีฏสำอาง ยกระดับความสามารถ เสริมอาชีพชุมชน ต่อยอดธุรกิจอุตสาหกรรม

28 ธันวาคม 2563

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

เป็นที่ยอมรับว่า ปัจจุบันตลาดส่งออกให้ความสนใจกับแมลงเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก รวมถึงภาคธุรกิจในรูปแบบของอาหารหรือสารสกัด ซึ่งแนวโน้มว่าโปรตีนและสารสกัดจากแมลงจะเติบโตอย่างรวดเร็วและมีโอกาสที่จะขยายตัวเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ในอนาคต ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ดำเนินงานโครงการวิจัยด้านแมลงที่พร้อมใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยผลักดันนวัตกรรมจากแมลงทหารเสือเข้าสู่ผลิตภัณฑ์อาหาร อาหารสัตว์และความงาม ภายใต้แผนงาน สเปียเฮด (Spearhead program) ตามแนวทางด้านเศรษฐกิจของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทน. ซึ่งเป็นแผนงานวิจัยและนวัตกรรมขนาดใหญ่ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้สูงในสาขาเป้าหมายของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและวัดผลได้ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ ในประเทศไทย


    

โครงการนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เวชสำอางครบวงจรจากแมลงทหารเสือ ครอบคลุมการทำงานหลายด้าน จากหลากหลายคณะในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่เรื่องของการเพราะเลี้ยงตัวอ่อน โดยร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมหาแนวทางการเพาะเลี้ยงว่าควรเลี้ยงอย่างไร สิ่งแวดล้อมอย่างไรที่ดี ซึ่งถ้าหากเลี้ยงในอุณหูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสม จะทำให้แมลงเจริญพันธ์ได้ดี เรื่องการปรับสูตรอาหารเพื่อให้ตัวอ่อนขาวขึ้น น้ำมันมีคุณภาพ ใส และมีกลิ่นลดลง ไปจนถึงขั้นตอนของกระบวนการทำแห้ง การรีดสกัดน้ำมัน ซึ่งเป็นความร่วมมือของคณะอุตสาหกรรมเกษตรและคณะวิทยาศาสตร์ จากการวิจัยทำให้ได้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 4% เป็นประมาณ 6.5% ได้น้ำมันคุณภาพดี กลิ่นจางลง และมีสีที่ดีขึ้น เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายคือการนำสารสกัดน้ำมันเป็นสารสำคัญในเครื่องสำอาง จึงนำมาสู่การทำวิจัยร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ ทำเครื่องสำอาง 11 ตำรับ จากการวิจัยพบว่าเมื่อนำน้ำมันจากแมลงทหารเสือมาผสมในเครื่องสำอางพบว่ามีคุณสมบัติช่วยในเรื่องของการซึมผ่านผิวได้ดี ป้องกันการเกิดสิว ลดปัญหาริ้วรอย และปัญหาฝ้า กระ โดยในกระบวนการได้มีการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพ รวมถึงทดสอบประสิทธิผลโดยแพทย์ผิวหนัง และเพื่อความปลอดภัย โครงการได้นำน้ำมันไปส่งตรวจสอบเรื่องการเป็นพิษหรือการแพ้ใน Lab ที่ได้มาตรฐานระบบการควบคุมคุณภาพและทดสอบความปลอดภัยของ OECD GLP ที่ประเทศเกาหลีใต้ รวมถึงการทำงานร่วมกับศูนย์สัตว์ทดลองของมหาวิทยาลัยด้วย


จากการดำเนินการทั้งหมด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งเน้นการผลิตและพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมในลักษณะบูรณาการและสหวิทยาการ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่น โดยโครงการวิจัยได้คำนึงถึงการเติบโตในอนาคตหากเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยเหตุนี้ทางโครงการจึงมีโรงเรือนต้นแบบที่มีระบบการควบคุมที่มีคุณภาพ การพัฒนาบุคลากรภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มศักยภาพขีดความสามารถ สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อย่างหลากหลาย ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่เกษตรกร และความมั่นคงทางอาหารของโลกนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจภูมิภาค ตลอดจนต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรมได้

แกลลอรี่