มช. ต่อยอดความสำเร็จ ขยายพันธมิตร นำข้าวลำไอออนสู่ชาวนาไทย

2 กรกฎาคม 2564

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ให้ความสำคัญกับการผลิตผลงานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ และนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ประเทศ และนานาชาติ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งอยู่ภายใต้ความร่วมมืออย่างเข้มแข็งระหว่างศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ศึกษาการนำเอาเทคโนโลยีลำไอออนมาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืช ผลจากการวิจัยต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปี ทำให้ปรากฏผลงานที่ทรงคุณค่า สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศ คือ ผลงาน “ข้าวพันธุ์ใหม่ที่ปรับปรุงพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีลำไอออนพลังงานต่ำ” ซึ่งได้รับความสนใจจากสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรีจนนำไปสู่โมเดล “มช.-ราชบุรีโมเดล” จากผลการเพาะปลูกที่ผ่านมา ได้รับเสียงตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดี เพราะให้ผลผลิตสูง และไม่พบการระบาดของโรคและแมลงที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นมาก ช่วยแก้ปัญหาของชาวนาอย่างตรงเป้า ส่งผลให้ข้าวลำไอออนได้รับความสนใจพร้อมขยายผลสู่สภาเกษตรกรอีกหลายจังหวัด

ในช่วงปี 2562 และ 2563 ที่ผ่านมา จากการเพาะปลูกข้าวลำไอออน จำนวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่
1. ข้าวหอมเพื่อการบริโภค (มช 10-1 หรือ FRK-1) เป็นข้าวเจ้าหอมพื้นอ่อน ไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิต 1.43 ตัน/ไร่
2. ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมแป้ง (ศฟ 10-5 หรือ MSY-4) เป็นข้าวเจ้าพื้นแข็ง ไม่ไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิต 1.54 ตัน/ไร่
3. ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ (ศฟ 10-7 หรือ OSSY-23) เป็นข้าวเจ้าพื้นแข็ง ไม่ไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิต 1.7 ตัน/ไร่

พบว่าข้าวปรับตัวได้ดี เป็นที่พึงพอใจของเกษตรกรและผู้ประกอบการข้าว จึงได้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกใน “มช.-ราชบุรี โมเดล” สู่ 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี กำแพงเพชร ชัยนาท ปทุมธานี ปราจีนบุรี พิจิตร พิษณุโลก แพร่ ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และอุตรดิตถ์ ด้วยข้อดีดังที่ได้กล่าวมา จึงทำให้ปี 2564 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ขยายพันธมิตรเพิ่มภายใต้ความร่วมมือส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยทางด้านข้าว เพื่อพัฒนาเกษตรกรรม พัฒนาเกษตรกรและบุคลากร ระหว่าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสภาเกษตรกรจังหวัด 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี นครนายก ศรีสะเกษ และนครสวรรค์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ชาวนาผู้ปลูกข้าวใน ที่มีรายได้อย่างต่ำ 10,000 บาท/ไร่ เน้นการตลาดนำการผลิต ดูแลชาวนาสมาชิกครบวงจรแบบปิด และควบคุมคุณภาพข้าวตลอดการผลิต ด้วยการปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ ผลผลิตสูง คุณภาพเมล็ดดี และมีตลาดรองรับแน่นอน

ด้วยความมุ่งมั่นของทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จะพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพสูง การใช้ลำไอออนพลังงานต่ำจึงเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ทำให้การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวครั้งนี้ประสบความสำเร็จได้ด้วยดี เป็นเมล็ดพันธุ์ใหม่ให้ชาวนาผู้ที่เป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศมีรายได้ที่สูงขึ้น สร้างกำลังใจให้เกษตรกรเชื่อมั่นในอาชีพทำนา จึงถือเป็นความภูมิใจที่ส่งต่อสู่มือเกษตรกรทั่วประเทศให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ นำมาซึ่งความสุขให้แก่ชาวนาไทย
แกลลอรี่