ป.เอก IE มช. ผุด REMO ล้างผัก ผลไม้ สะอาดได้สูงสุด 99%

19 กันยายน 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

นักศึกษาระดับปริญญาเอก วิศวกรรมอุตสาหการ ( IE ) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลิตเครื่อง REMO นวัตกรรม ADVANDED OXIDATION PROCESS ( AOP ) ล้างสารเคมีตกค้างในผัก ผลไม้ ทำความสะอาดได้สูงสุด 99 %

นายนรพนธ์ วิเชียรสาร นักศึกษาระดับปริญญาเอก ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ( IE ) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของโครงการนวัตกรรมพลาสมา เพื่อการสลายสารเคมีตกค้างบนผัก และผลไม้สำหรับผู้ส่งออก ผลิตเครื่อง REMO นวัตกรรมชำระล้างสารเคมีในผัก และผลไม้แก่ผู้บริโภคทั้งในครัวเรือน และผู้ส่งออกที่ประสบปัญหาสารเคมี ยาฆ่าแมลง และจุลินทรีย์ตกค้าง ด้วยระบบ AOP ซึ่งได้จากก๊าซที่แตกตัวในระยะ Ionization และ Excitation ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์อนุมูลอิสระกลุ่ม ROS (REACTIVE OXYGEN SPECIES) ที่ทำงานร่วมกับนวัตกรรมฟองอากาศ ขนาดไมครอนเล็กกว่าเส้นผม 80 เท่า จึงสามารถทำความสะอาดพื้นผิวที่มีความซับซ้อนได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ชำระจุลินทรีย์ หรือสารเคมีบนพื้นผิวของผักและผลไม้ได้ถึง 95-99 % (ผลทดสอบจากกรมวิซาการเกษตรที่ทำการฉีดพ่นสารเคมีความเข้มข้น 400 PPM ตามอัตราแนะนำ ซึ่งติดเกาะบนผิวของผักและ ไม้เฉลี่ยที่ 80 PPM) ทั้งยังมีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคต่าง ๆ


Advanced Oxidation Process ก่ออนุมูลอิสระไฮดรอกซิลสลายสารเคมีที่ตกค้างให้กลายเป็นสารอนินทรีย์ ดังนั้นน้ำที่ล้างผักและผลไม้จึงเป็นมิตรกับในสิ่งแวดล้อม และสัตว์เลี้ยง การติดตั้งสามารถต่อเข้ากับระบบนํ้าเดิมได้ทันที ราคาต่อเครื่องคือ 99,000 บาท โดยต้องเติมสาร Active Solution เป็นประจำ ( สาร 1 ชุด ราคาประมาณ 1,000 บาท ใช้ได้ประมาณ 15 วัน ) ขณะนี้ทีมงานสามารถผลิต REMO ได้สัปดาห์ละ 1 เครื่อง โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกสัตว์น้ำ ผัก รวมถึงผลไม้ประสานงานขอซื้อเครื่องไปใช้แล้วส่วนหนึ่ง และคาดว่าราคาจะต่ำลงกว่านี้ได้ หากเข้าสู่ตลาดการผลิต


แรกเริ่มเครื่องนี้เป็นโครงการวิจัย ของ PLASMA TECHNOLOGY LABORATORY ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้ศูนย์ความร่วมมือการวิจัยไทย - เกาหลี (TKRCC) เป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประเทศไทย (CMU STeP) และศูนย์เทคโนโลยีพื้นผิวพลาสมาขั้นสูงมหาวิทยาลัย Sungkyunkwan เกาหลี ( CAPST, SKKU) การสร้าง REMO ในครั้งแรกดำเนินการผ่าน CMU STeP เพื่อรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เมื่อทำการวิจัยแล้ว พบว่าเทคโนโลยีพลาสมาสามารถดึงสารเคมีตกค้างจากผัก ผลไม้ได้จริง จึงนำไปสู่ระยะต่อไป คือ กลุ่มนักวิจัยทำเป็น ธุรกิจ Start up ซึ่งผู้สนับสนุนทุน ได้แก่ กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.คมกฤต เล็กสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาตลอดโครงการของ REMO


ผู้สนใจเครื่อง REMO สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดจากทีมงานทาง E-mail: plastech.th@gmail.com หรือติดต่อผ่านกล่องข้อความเฟสบุ๊ก Plastechcorporation



ข้อมูลโดย : คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แกลลอรี่